SHORT CUT
เปิดเหตุผล เพราะเหตุใด ตัวร้าย ในฮอลลิวูด ห้ามถือ iPhone หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆของ Apple ม ทฤษฎีนี้มีอยู่จริง ใช่หรือไม่ ?
ในโลกภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยแสงสีและเรื่องราวอันซับซ้อน และยากเกินจะคาดเดา มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังฉากเหล่านั้น และหนึ่งในที่น่าสนใจคือ "ตัวร้ายห้ามใช้ iPhone" เรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยโดย ไรอัน จอห์นสัน ผู้กำกับชื่อดังจาก Knives Out และ Star Wars: The Last Jedi ซึ่งเคยได้ให้สัมภาษณ์กับ Vanity Fair ว่า Apple อนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของตนในภาพยนตร์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าตัวร้ายจะต้องไม่ปรากฏตัวพร้อม iPhone ในมือ
ไม่ใช่แค่การวางผลิตภัณฑ์เพื่อการโฆษณา แต่ บริษัท Apple ต้องการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดีอยู่เสมอ ยกตัวอย่างให้เห็น ในภาพยนตร์ Knives Out ฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าคุณปู่ การที่ตัวละครใช้โทรศัพท์ Android กลายเป็นเบาะแสสำคัญที่ผู้ชมใช้ในการวิเคราะห์ตัวละคร หรือในซีรีส์ Succession ของ HBO การเลือกใช้โทรศัพท์ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะและ "ความดี" ของตัวละคร
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีต ช่วงเกือบๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา , นิตยสาร Wired เคยรายงานว่าในซีรีส์ 24 ตัวร้ายมักใช้คอมพิวเตอร์ระบบ Windows ในขณะที่ตัวเอกใช้ MacBook แสดงให้เห็นว่า Apple ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์มาโดยตลอดอยู่แล้ว
นักวิจัยด้านแบรนด์ Concave ระบุว่า Apple เป็นแบรนด์ที่ “ปรากฏในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในหลายๆ รายการทีวีที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่”
Concave ยังจับเวลาได้ว่า Apple เคยปรากฏมากกว่า 13 นาทีในซีซั่นที่ 2 ของ Big Little Lies ดราม่าระดับพรีเมียมจาก HBO ที่นำแสดงโดย Nicole Kidman, Reese Witherspoon และ Meryl Streep มีทั้ง โทรศัพท์, โน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตวอช ที่มีแบรนด์ของ Apple ปรากฏในซีรีส์นี้
แน่นอนว่ากฎ "ตัวร้ายห้ามใช้ iPhone" ไม่ได้ถูกใช้ในทุกกรณี เพราะ The guardian ได้ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต) ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ภาพยนต์ยอดเยี่ยม ปี 2020 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
เพราะเมื่อครอบครัวชนชั้นล่างใช้ Android ในขณะที่ครอบครัวชนชั้นสูงใช้ iPhone ซึ่งอาจตีความได้ว่าครอบครัวรวยคือ "ผู้ร้าย" แต่ Parasite เป็นภาพยนตร์ที่มีความซับซ้อน ตัวละครทุกตัวมีด้านมืดและด้านสว่าง การใช้ Product Placement จึงเป็นไปเพื่อการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน
อีกตัวอย่างคือภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ James Bond 007 ที่การวางผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนในแต่ละภาค แต่แดเนียล เคร็ก อดีตนักแสดงผู้รับบท James Bond เคยปฏิเสธข้อเสนอจาก Samsung และ Sony เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมกับตัวละคร ทั้งที่จะได้เงินจำนวนมหาศาล
นักวิเคราะห์จาก PQ Media ประมาณการว่า รายได้จากการวางสินค้าในภาพยนตร์มีมูลค่า 11.44 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยแบรนด์ต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อเข้าถึงผู้ชม แต่ถึงแม้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์ก็ยังอาจเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบางบริษัทที่ใส่ใจภาพลักษณ์ของตนเอง
ภาพยนตร์ฮิตไวรัลระดับโลก ของแดนนี่ บอยล์ในปี 2008 เรื่อง Slumdog Millionaire ได้รับรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล แต่ทั้ง Coca-Cola และ Mercedes ต่างไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเด็กหนุ่มจากสลัมที่กลายเป็นเศรษฐี ในเรื่องนี้ ผลิตภัณฑ์ของภาพยนตร์ไม่ได้ขออนุญาตจากแบรนด์เหล่านี้ในการใช้โลโก้ในภาพยนตร์ และเมื่อพวกเขาขออนุญาตในภายหลัง ทั้งสองบริษัทก็ไม่พอใจที่เห็นภาพลักษณ์ของพวกเขาถูกนำเสนอในลักษณะนี้
ไม่ว่า Apple จะมีกฎอย่างเป็นทางการหรือไม่ การที่ผู้กำกับหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ก็เป็นไปเพื่อไม่ให้ผู้ชมจับทางได้ง่ายเกินไป และสร้างความสนุกสนานให้กับภาพยนตร์หรือซีรีส์
สิ่งที่น่าสนใจคือ Apple ไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่เลือกที่จะปล่อยให้เป็น "ความลับ" ที่รู้กันในวงการฮอลลีวูด นี่คือกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพราะมันสร้างความสนใจและทำให้คนพูดถึงแบรนด์ Apple โดยที่ Apple ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก
ที่มา : the guardian people slashfilm