SHORT CUT
ทำความรู้จักประวัติ Lip-Bu Tan ซีอีโอ Intel คนใหม่ เขาจะพลิกฟื้นชุบชีวิตบริษัทให้พ้นวิกฤตได้หรือไม่ และจะทำให้บริษัทยิ่งใหญ่อีกครั้งได้ไหม
ทันทีที่ Intel ประกาศแต่งตั้ง Lip-Bu Tan ลิป บู ตัน หัวเรือใหญ่ของบริษัทซอฟต์แวร์ Cadence Design System ที่เคยมาเป็นบอร์ดบริหารของ Intel อยู่ช่วงหนึ่งให้เป็นซีอีโอ Intel คนใหม่ โดยจะเริ่มงานตั้งแต่ 18 มีนาคม 2025 เป็นต้นไป , ชื่อของ Lip-Bu Tan ก็กลายเป็นจุดสปอตไลท์และได้รับความสนใจขึ้นมาทันที
ในอดีต Intel ถือเป็นผู้ผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับ PC และแล็ปท็อปรายใหญ่ที่สุด แต่ตอนนี้บริษัทนี้ ไม่ใช่ผู้เล่นที่ครองตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกต่อไปแล้ว และตอนนี้ มีคำถามมากมายว่า Intel ในมือ Lip-Bu Tan ลิป บู-ตัน CEO จะเป็นอย่างไร
จะเป็น ยักษ์ที่ตื่นจากความหลับใหลได้หรือไม่ ?
ก่อนอื่นเลย เราต้องมาทำความรู้จักกับ Lip-Bu Tan ลิป บู-ตัน CEO คนใหม่ของ Intel กันก่อน
ลิป-บู ตัน เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ยาวนานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยมีภูมิหลังที่หลากหลายทั้งด้านการลงทุนและการบริหารจัดการบริษัทเทคโนโลยี
เดิมที ลิป-บู ตัน ตั้งใจที่จะทำงานด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา แต่เหตุการณ์สารกัมมันตรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ในปี 1979 ทำให้เขาเปลี่ยนเส้นทางอาชีพไปสู่สายเทคโนโลยี
เขาผันตัวไปเป็นนักลงทุนและดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทการลงทุน Walden International ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์, โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์, ระบบบริหารจัดการข้อมูลและความปลอดภัย, และ AI Walden มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่มีทีมวิศวกรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะด้านการออกแบบฮาร์ดแวร์ การลงทุนที่โดดเด่นของ Walden ได้แก่ Annapurna Labs (ถูก Amazon ซื้อกิจการ) และ Nuvia (ถูก Qualcomm ซื้อกิจการในปี 2021)
ในปี 2009 เขาได้รับตำแหน่ง CEO ของ Cadence Design Systems ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบชิป เขาดำรงตำแหน่ง CEO ที่นั่นจนถึงปี 2021 ในช่วงที่เขาเป็น CEO นั้น Cadence มีการเติบโตอย่างมาก โดยรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานขยายตัว และราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,200% เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำในการปฏิรูปบริษัทและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นนวัตกรรมที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
เขายังดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของ Cadence เป็นเวลา 19 ปี ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งในปี 2004 รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2023 หลังจากสิ้นสุดการเป็น CEO
นอกจากนี้ เขายังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ก่อตั้ง Walden Catalyst Ventures และประธานของ Walden International
เขามีประสบการณ์ในคณะกรรมการบริษัทมหาชนมากมาย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของ Credo Technology Group และ Schneider Electric
ในปี 2022 เขาได้รับรางวัล Robert N. Noyce Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ลิป-บู ตัน เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารของ Intel โดยเข้าร่วมในปี 2022
อย่างไรก็ตาม เขาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2024 เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท มีรายงานว่าเขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่มากเกินไป การที่บริษัทไม่ควรเข้าสู่ธุรกิจรับจ้างผลิตชิป และปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ชอบความเสี่ยง
ล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2025 Intel ได้ประกาศแต่งตั้ง ลิป-บู ตัน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2025 การแต่งตั้งครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี และนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับในเชิงบวก ทำให้หุ้นของ Intel ปรับตัวสูงขึ้น นักวิเคราะห์มองว่าประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่กว้างขวางของเขาในอุตสาหกรรมชิปจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการฟื้นฟู Intel งานหลักของเขาคือการ ชุบชีวิต" Intel หลังจากเผชิญกับความท้าทายมาหลายปี เขานับเป็นซีอีโอคนที่ 6 ของ Intel ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
โดยรวมแล้ว ลิป-บู ตัน เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีเครือข่ายกว้างขวาง การกลับมารับตำแหน่ง CEO ของ Intel ในครั้งนี้จึงได้รับความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่าจะสามารถนำพา Intel กลับมาเติบโตและแข่งขันในตลาดได้อีกครั้ง
ช่วงพฤศจิกายน 2024 แพต เจลซิงเกอร์ CEO ของ Intel คนก่อนหน้านี้ กลายเป็นซีอีโอที่พา Intel ร่วงสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายปี เพราะหุ้น Intel ถูกถอดออกจากกลุ่มหุ้น DJIA ที่อยู่มา 25 ปี ท่ามกลางราคาหุ้นที่ตกไปเกิน 50%
บริษัทที่เข้าไปอยู่ในหุ้น DJIA แทน Intel คือ Nvidia คู่แข่งที่ก่อตั้งมาทีหลัง แต่ทันสมัยกว่า และขณะนั้นเป็นบริษัทชิปแห่งแรกที่มีมูลค่าระดับล้านล้านดอลลาร์อีกด้วย
นี่ถือเป็นจุดตกต่ำ เพราะ Intel ถือเป็นบริษัทแรกๆ ในอุตสาหกรรมชิป ที่ก่อตั้งมาเกือบ 60 ปี เป็นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน
แต่ทว่า ปัญหาของ Intel สะสมมาหลายสิบกว่าปี เป็นการยากที่จะปิดช่องว่างด้านเทคโนโลยีที่เกิดจากการลงทุนไม่เพียงพอในช่วงกว่าทศวรรษ แม้ว่า Intel ยังคงทำกำไรได้หลายหมื่นล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม Intel ไม่ใช่ผู้เล่นที่ครองตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกต่อไป สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับ Intel ดูเหมือนจะเป็นการรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ เนื่องจากยุคที่ Intel ครองตลาดได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว...
ดังนั้น งานใหญ่ที่รอ ลิป บู-ตัน คือการชุบชีวิต Intel ให้ได้นั่นเอง โดย ลิป บู-ตัน ส่งอีเมลถึงพนักงานอินเทลหลังประกาศรับตำแหน่งซีอีโอ โดยให้คำมั่นว่าจะให้ความสำคัญกับด้านวิศวกรรม และจะไม่แยกธุรกิจอินเทลออกจากกันเป็นสองบริษัท รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทกล้าเสี่ยงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งยังตามหลังคู่แข่ง