svasdssvasds

'Aftershock' หรือ 'แผ่นดินไหวตาม' แรงสั่นสะเทือนที่มาย้ำเตือนภัยพิบัติ

'Aftershock' หรือ 'แผ่นดินไหวตาม' แรงสั่นสะเทือนที่มาย้ำเตือนภัยพิบัติ

เปิดความหมาย Aftershock หรือ แผ่นดินไหวตาม หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวหลักไปแล้ว ต้องมาลุ้นอีกว่าจะเกิด Aftershock ตามมาหรือไม่ เหตุการณ์ Aftershock ที่ประเทศจีน ปี 1976 คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่า 242,000 ชีวิต

ชวนคิดเร็ว ๆ ตรงนี้ก่อนว่า แผ่นดินไหวหลัก กับ Aftershock เหตุการณ์ไหนสร้างความเสียหายได้มากกว่า?

Aftershock!

หลายท่านอาจคุ้นหูคำนี้กันเป็นอย่างดี เรามักใช้คำว่า Aftershock พูดถึงสถานการณ์ที่เพิ่งประสบพบเจอเรื่องร้ายมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความหมายในลักษณะนี้ก็ถูกถอดความมาจากความหมายต้นตำรับได้อย่างแยบยล

Aftershock หรือในความหมายภาษาไทย “แผ่นดินไหวตาม” เป็นคำที่บ่งบอกสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นจำนวนหลายครั้งหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวไปแล้วสัก 1 – 2 ชั่วโมง ผ่านไปแล้ว 1 วัน หรือผ่านไปแล้วเป็นเดือน แล้วเพิ่งจะมีแรงสั่นสะเทือนตามมา เหตุการณ์ทำนองนี้เราเรียกว่า “Aftershock” หรือ “แผ่นดินไหวตาม”

Aftershock จะเกิดแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าแผ่นดินไหวหลัก Cr. Unsplash

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวสักครั้ง นั่นหมายความว่ามีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก (Earth Crust) ชั้นหินต่าง ๆ และเมื่อแผ่นดินหยุดไหวแล้ว เปลือกโลกก็จะถูกดึงดูดให้เข้าหากันในสภาพเดิมโดยธรรมชาติ ช่วงระหว่างที่โลกค่อย ๆ เคลื่อนกลับเข้าสู่ที่เดิม คือช่วงที่มักเกิด ‘แผ่นดินไหวตาม’ หรือ ‘Aftershock’ นั่นเอง

ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวแล้ว จะเกิด Aftershock ตามมาหรือไม่ จะเกิดเมื่อไหร่ จะเกิดกี่ครั้ง เพราะองค์ประกอบการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งไม่มีเหมือนกันอาทิ ความรุนแรงของการสั่นสะเทือน

กล่าวคือ นอกจะหาวิธีรับมือขณะเกิดแผ่นดินไหวแล้ว การเตรียมตัวรับมือต่อ Aftershock ก็เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติเช่นกัน

อาคารบ้านเรือนเสียหายจากแผ่นดินไหว Cr. Reuters

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง ตั้งแต่ 5.0 ริคเตอร์ขึ้นไป มักจะเกิด Aftershock ตามมา แต่ ‘แผ่นดินไหวตาม’ ที่กำลังคอยท่าจะมาย้ำสถานการณ์ก็จะลดระดับความสั่นสะเทือนลง

ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาร์ สั่นสะเทือน 6.4 ริคเตอร์ Aftershock ก็จะลดลงไปตั้งแต่ 6.4 ริคเตอร์ แต่ถึงกระนั้นก็นับว่ารุนแรงอยู่ดี

บางที Aftershock อาจหมัดหนักกว่า

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ‘แผ่นดินไหวตาม’ มีแนวโน้มที่จะเกิดแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าแผ่นดินไหวหลักก็จริง แต่บางครั้งเหตุการณ์ Aftershock ก็สร้างความเสียหายและความสูญเสียเกินคณานับ

ตัวอย่างที่อธิบายความโหดร้ายของเหตุการณ์ Aftershock ได้เป็นอย่างดี ย้อนกลับไปในวันที่ 28 กรกฎาคม 1976 ที่เมืองถังซาน ประเทศจีน ในครั้งนั้นมีการรายงานเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริคเตอร์ ทำให้อาคารบ้านเรือนถล่มลงมากลายเป็นซากปรักหักพัง

แผ่นดินไหว 7.5 ริคเตอร์ที่ประเทศจีนปี 1976 Cr.Wikipedia

แผ่นดินไหวที่จีนปี 1976 คร่า 242,000 ชีวิต Cr. whoi.edu

แถมยังไม่สามารถกู้ชีพผู้ประสบภัยออกมาได้ จน Aftershock ย่างกรายมาถึงอีกครั้ง ทำให้ท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้พรากชีวิตประชาชนไปราว 242,000 คน (ที่ระบุตัวตนได้) คาดกันว่าตัวเลขจริง ๆ อาจพุ่งไปถึง 655,000 คน

ถึงตรงนี้คิดว่าคงตอบคำถามที่จั่วไปตอนต้นได้พอสมควร แผ่นดินไหวหลักเหมือนเป็นคนทำให้เกิดแผลใหญ่ ส่วน Aftershock เปรียบเสมือนเข็มเล็ก ที่ค่อย ๆ ตามจิ้มที่แผลนั้นซ้ำ ๆ

เรื่องที่โหดร้ายก็คือ เข็มนี้ไม่มีผู้ใดคาดเดาได้ ว่าจะมาเยือนเมื่อไหร่ หรือบางทีมันอาจจะมาทในตอนที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว

ที่มา: britainnica

        กรมอุตุนิยมวิทยา

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related