SHORT CUT
งานวิจัยล่าสุดชี้ ความชื้นในดินทั่วโลกกำลังลดลงเพราะโลกร้อน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรน้ำของโลกอย่างถาวร
ผลการวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม การวัดระดับน้ำทะเล และการสังเกตการเคลื่อนที่ของขั้วโลก ได้แสดงให้เห็นว่าระดับความชื้นในดินทั่วโลกนั้น เริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2000 คาดว่าเกิดจากการเก็บกักไอน้ำในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝนด้วย
จากข้อมูลดังกล่าว นักวิจัยเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น "ถาวร" หากแนวโน้มภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป หมายความว่าเราจะไม่สามารถฟื้นฟูความชื้นในดินทั่วโลกได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวัฏจักรน้ำที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง
โดยปกติแล้วในทุกปีจะมีน้ำราว 6 ล้านตันหมุนเวียนผ่านพื้นผิวโลก เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะถูกกักเก็บไว้ในดิน พื้นที่ชุ่มน้ำ น้ำใต้ดิน ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำ ก่อนจะค่อยๆ ไหลซึมกลับลงสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยหมุนเวียนสารอาหาร และควบคุมสภาพอากาศ
ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในดินยังอ่อนไหวต่อปัจจัยหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน การระเหยจากความร้อน จำนวนต้นไม้พืชพรรณ และสภาพอากาศ รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเกษตรกรรม
ขณะที่นักวิจัยเปิดเผยอย่าวเป็นกังวลว่า ความชื้นในดินที่ลดลงส่งผลให้โลกสูญเสียน้ำทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านล้านตัน ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจนถึงปี 2021 และคาดว่าไม่น่าจะฟื้นตัวได้ภายใต้สภาพภูมิอากาศปัจจุบัน
หนึ่งในนักวิจัยบอกว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้คือ 'ภัยแล้ง' ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบมากที่สุดและมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เนื่องจากภัยแล้งมักจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทุกอย่างต้องการน้ำ ระบบนิเวศต้องการน้ำ เกษตรกรรมต้องการน้ำ ผู้คนต้องการน้ำ หากไม่มีน้ำเพียงพอ ทุกคนจะประสบปัญหาในการดำรงชีวิต