SHORT CUT
รู้ไหม? ดินสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าชั้นบรรยากาศ 2 เท่า แต่โลกร้อนกำลังทำให้ดินวิกฤต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอนาคตของมนุษยชาติ
อย่างที่ทราบกันดีว่า “ดิน” เป็นทรัพยากรและส่วนประกอบที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์เราพึ่งพาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น การเดินนั่งใช้ชีวิตประจำวัน การก่อสร้างที่พักอาศัย การเกษตร การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก และอีกมากมาย
แต่ในทางกลับกัน มนุษย์เองกำลังทำให้ดิน สูญเสียประสิทธิภาพมากขึ้น จากภาวะโลกร้อนที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือ
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ดินที่สูงเกิน 30 ซม. ของโลกมีคาร์บอนมากกว่าชั้นบรรยากาศถึง 2 เท่า รองจากมหาสมุทร นั่นหมายความว่า ดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสอง มีประสิทธิภาพมากกว่าป่าไม้และพืชพรรณอื่น ๆ ที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้
ดิน แทบจะเป็นอู่ข่าวอู่น้ำของมนุษย์ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้มากมาย รวมไปถึงปกป้องเราจากภัยธรรมชาติสุดเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ทำให้ดินในหลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต จากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง ที่ทำให้ดินสูญเสียความชื้น กระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตรด้วยวิถีชลประทาน เมื่อขาดน้ำ จึงทำให้มีปริมาณผลผลิตลดลง
ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปผิดปกติ เช่น ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ หรือหิมะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนเหตุการณ์ฟูเขาไฟฟูจิล่าสุดที่หิมะมาช้าจนคนทั่วโลกฮือฮา สิ่งเหล่านี้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ประสิทธิภาพของดินลดลง อาทิ วงจรประจำปีของสัตว์และพืชแปรปรวน
ยกตัวอย่าง ฤดูใบไม้ผลิอาจมาเร็วกว่าปกติ ทำให้ต้นไม้เบ่งบานก่อนที่แมลงผสมเกสรจะฟักเป็นตัว จนสามารถทำหน้าที่ผสมเกสรได้ และด้วยประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น การผลิตอาหารของโลก หรือการสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงสำคัญ
ข้อมูลจาก NASA เผยว่า ปี 2024 หลายพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปออสเตเรีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา แห้งแล้งและอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันดับสองรองจากปี 2023 หลายพื้นที่ได้ทุบสถิติอากาศที่อบอุ่นในปีนี้ และการเกษตรส่วนใหญ่ของโลกยังคงประสบปัญหาความชื้นในดินและระดับน้ำในดินต่ำ
หรือแม้กระทั่ง ดินที่กักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ก็อาจนำไปสู่ภัยพิบัติได้ เช่น ภาคเหนือของไทยที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ เพราะฝนที่ตกหนักผิดปกติในที่เดิมซ้ำ ๆ ดินอุ้มน้ำไม่ไหว ทำให้ดินโคลนไหลจากภูเขาลงมายังบ้านเรือนมหาศาล และเราเห็นมันชัดเจนมากขึ้นหลังน้ำลด นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราทำให้ดินสูญเสียประสิทธิภาพ
Associated Press รายงานว่า ตามรายงานขององค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (the United Nations' World Food Program) ภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานที่เกิดขึ้นที่แอฟริกาตอนใต้ อันเกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนได้มากกว่า 27 ล้านคน (ในเลโซโท มาลาวี นามิเบีย แซมเบีย และ ซิมบับเว) และก่อให้เกิดวิกฤตความหิวโหยของภูมิภาคครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โครงการอาหารโลกเตือนว่าสิ่งนี้อาจกลายเป็น “ภัยพิบัติของมนุษย์เต็มรูปแบบ
ปัญหาอุปสรรคสำคัญคืออะไรล่ะ? อย่างแรกคือ ภาวะโลกร้อนทำให้ดินกักเก็บความชื้นไม่อยู่ ทำให้ความสามารถในการกักเก็บลดน้อยลง สอง ดินถูกเปลี่ยนแปลงการใช้งาน เช่น การเผาหน้าดิน การไถทุ่งพื้นที่เพาะปลูก ทำให้คาร์บอนที่ดินกักเก็บไว้หลุดออกมา
สิ่งที่ต้องแก้คือ การเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกที่ปัจจุบันมีมากเกินไป กลับเป็นเป็นทุ่งหญ้าหรือป่า เพื่อเพิ่มคาร์บอนในดิน ดังนั้น ยิ่งเราดูแลดินได้ดีเท่าไหร่ ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ก็จะยิ่งช่วยลดคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนได้มากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญเราจะมีความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ประชากรโลกกำลังแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต
ที่มาข้อมูล