ประตูน้ำท่ารั่วพังถล่ม ทำน้ำเค็มไหลทะลักหาน้ำจืดในคลองประเวศบุรีรมย์ ปลาหายหมดคลอง คำถาม ชาวบ้านที่พึ่งพาสายน้ำจะต้องทำอย่างไรต่อไป เมื่อไร้เสียงตอบรับจากภาครัฐ
กลิ่นของความเค็มผสมกลิ่นน้ำเน่าตีขึ้นจมูก เมื่อทีม Keep The World เดินทางถึงศาลเจ้าแม่เทียนโหวเซี้ยบ้อ ที่อยู่ติดกับคลองปากเปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และข้ามคลองไปเพียงอึดใจก็จะเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา
บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมคลองหลายคลอง โดยเชื่อมกับแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดคือแม่น้ำบางปะกง ที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์น่าหวั่นใจไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา หลังประตูระบายน้ำท่าถั่วที่มีอายุกว่าร้อยปีพังถล่มลงมา เนื่องจากทำนบดินทรุดตัวจากการก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ทำให้น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามายังคลองต่าง ๆ ทำให้เพียงไม่ถึงข้ามวัน ปลาในคลองก็ลอยตายเป็นแพ
ชาวบ้านสามารถเก็บปลาขึ้นมาได้หลายตัน บางบ้านก็ได้มากกว่า 200 กิโลกรัม ทำให้คลองเปร็ง คลองประเวศบุรีรมย์ และอีกหลายคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำบางปะกงตอนนี้ แทบจะไร้สัตว์น้ำอยู่อาศัย
ครอบครัวของคุณหมอสุธีร์ รัตนะมงคลกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒองค์รักษ์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะบ้านของคุณแม่ของคุณหมอ อยู่ติดกับคลองเปร็ง ไม่มีถนนให้รถสัญจร เราต้องนั่งเรือไปหาเท่านั้น
ตลอดการนั่งเรือ ยิ่งใกล้น้ำเท่าไหร่ กลิ่นยิ่งแรงขึ้น ซากปลาตายยังคงเหลงเหลือ หลังชาวบ้านพากันมารุมตักไปจนเกือบหมดคลอง
หน้าบ้านของคุณหมอ มีผักบุ้งใบสีเหลือง ที่บ่งบอกว่าเพิ่งแห้งเฉา ลอยเต็มหน้าบ้านไปหมด ซึ่งผักบุ้งเหล่านี้เป็นผักบุ้งที่ปลูกโดยนางสำรวย ซึ่งเป็นคุณแม่ของคุณหมอ เพื่อเก็บไปขายหารายได้ นอกจากนี้ยังพบกระชังปลาที่ไร้ปลา เพราะคุณแม่บอกว่า ตายไปพร้อมกับปลาในคลองนั่นแหละ
ผู้คนบางส่วนในชุมชนคลองแห่งนี้มีอาชีพประมงและการเกษตร บางบ้านมีปลูกผักบุ้ง บางบ้านทำสวน และบางบ้านก็จับปลา ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาน้ำจากลำคลองเพื่อยังชีพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประกาศให้พื้นที่หมู่ที่ 1-12 ตำบลคลองเปร็ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัยให้เร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปนั้นยังไม่ชัดเจนซะทีเดียว ว่าชาวบ้านจะได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง
สิ่งหนึ่งที่เสียงของชาวบ้านฝากมายัง Keep The World คือคำถามที่ว่า เมื่อเกิดเหตุแล้ว อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแจ้งเตือนชาวบ้านก่อน ไม่อยากให้ชาวบ้านต้องมาเตือนภัยกันเอง และอยากให้การช่วยเหลือเยียวยาไม่ล่าช้า เพราะยังมีอีกหลายปากท้องที่หวังพึ่งพาคลองแห่งนี้อยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง