เผยผลตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลศรีราชา พบค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อ เป็นเหตุให้สัตว์น้ำทยอยลอยตายเป็นประวัติการณ์ ด้านสำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ฟันธง เหตุจากแพลงก์ตอนบลูม
ภายหลังเหตุการณ์สัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ลอยตายเกลื่อนทะเลตลอดแนวชายฝั่งชลบุรี ตั้งแต่บางแสน ไปจนถึงศรีราชา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า จากการสำรวจคุณภาพน้ำโดยทีมนักวิจัยจาก คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจนเกือบเหลือศูนย์หลายจุด และเป็นตลอดทั้งมวลน้ำ
“ผมอ่านข้อมูลของทีมสำรวจคณะประมงโดยดร.ธนัสพงษ์ Tanuspong Pokavanich ด้วยความตกใจ ทีมเพิ่งสำรวจทะเลแถวศรีราชา/บางแสนเมื่อวาน ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อ ปรกติค่าน่าจะอยู่ที่ 5-7 mg/L (มิลลิกรัม/ลิตร) แต่ทุกสถานีที่เก็บมา ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 1 หมดเลย อีกทั้งยังเป็นค่าที่ต่ำตลอดทั้งมวลน้ำ ไม่ว่าจะใกล้ผิวน้ำจนถึงพื้น ออกซิเจนต่ำเตี้ยทั้งนั้น” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
อนึ่ง ตามเกณฑ์มาตรฐาน หากค่าออกซิเจน 0-2 มิลลิกรัม/ลิตร จะไม่พอเพียงสำหรับสัตว์น้ำ และถ้าหากค่าออกซิเจนต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร จะเกิดการตายครั้งใหญ่
“ค่าออกซิเจนที่คณะประมงสำรวจ หลายจุดต่ำกว่า 0.5 โดยเฉพาะสถานีใกล้ชายฝั่ง นั่นอาจเป็นคำตอบของปลา/สัตว์น้ำพื้นทะเลตายเป็นจำนวนมาก พบกุ้ง ปู และกั้งชนิดต่างๆ รวมถึงไส้เดือนทะเลที่ฝังตัวในพื้นก็ยังตาย หากเป็นไปตามข้อมูลนี้ หมายถึงสถานการณ์แถวนั้นน่าเป็นห่วงสุดขีด” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
“หากข้อมูลเหล่านี้มีการคอนเฟิร์มยืนยัน ผมคิดว่าเรากำลังเจอปัญหาหนักมากแม้จะเป็นชั่วคราว แต่แบบนี้เรียกได้ว่า Dead Zone เพราะมันไม่ใช่แค่บางจุดบางความลึก แต่เป็นทั้งหมดผลกระทบคงมหาศาลครับ”
ในขณะเดียวกัน สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี ได้มีการจัดหารือประเด็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นทั้งที่บริเวณชายหาดบางแสน บางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด โดยมีนายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี พร้อมด้วยผู้แทนจาก กรมเจ้าท่าชลบุรี, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 ชลบุรีและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหาข้อสรุป
โดยทางฝั่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ เผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การที่หน่วยงานราชการรีบด่วนสรุปว่าปลาตาย สัตว์ทะเลตาย เป็นผลมาจากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป ด้วยเหตุที่การตายหมู่ของสัตว์ทะเลเกิดไล่เลี่ยกับการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลเมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา
ดังนั้น สนธิ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำตัวอย่างสัตว์ทะเลที่ตาย โดยเฉพาะหอยแมลงภู่ของชาวบ้านที่มีภาพก่อนหน้านี้ว่ามีคราบน้ำมันลอยเข้ามากระทบ นำไปตรวจหาสารไฮโดรคาร์บอน เพื่อพิสูจน์ว่าการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลส่งผลให้สัตว์ทะเลตายหรือไม่
“การฟันธงว่าสัตว์ทะเลตายเพราะแพลงก์ตอนบลูมเช่นนี้ ทำให้ชาวประมงผู้เลี้ยงหอยชายฝั่งที่ต้องเสียหายจากหอยตายเสียประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่สามารถไปเรียกร้องเอาค่าชดเชยความเสียหายจากใครได้ อีกทั้งยังไม่ช่วยแก้ข้อกังขาของสังคม ที่ยังกลัวการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายจากน้ำมันในอาหารทะเล ดังนั้นควรเอาสัตว์ทะเลไปตรวจ เพื่อคลายข้อกังขาตรงนี้เสีย” สนธิ กล่าว
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออก (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบนี้ เร่งรีบแสดงความรับผิดชอบจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล รวมถึงรับผิดชอบต่อวิธีการขจัดคราบน้ำมันดิบที่จะสร้างมลพิษในทะเลอย่างต่อเนื่องในลักษณะนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง