ผลพวงการปล่อยน้ำจากเขื่อนไชยะบุรี ทำหาดท่องเที่ยวเมืองเชียงคานน้ำท่วมมิดหัว แถมน้ำเย็นและขุ่นจัดทำปลากระชังน็อกน้ำตายยกสาย
ภายหลังจากที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทั้งประเทศไทยและประเทศลาว เผชิญกับฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการปล่อยน้ำของเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบน เป็นเหตุให้เขื่อนไชยะบุรีต้องปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลออกทางท้ายน้ำ ส่งผลกระทบถึงแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย เรื่อยไปลงไปนั้น
ชาญณรงค์ วงศ์ลา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงคาน เปิดเผยว่า ในช่วงสองถึงสามวันที่ผ่านมานี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงวันละกว่า 1 – 2 เมตร ระดับน้ำที่ขึ้นอย่างรวดเร็วยังมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของอุณหภูมิและความขุ่นของน้ำ โดยพบว่าน้ำโขงที่สูงขึ้นอย่างกระทันหันมีความขุ่นและเย็นมาก
จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความขุ่นของน้ำอย่างฉับพลัน ทำให้ปลาในกระชังเลี้ยงของชาวบ้านในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ตายยกกระชังเกือบทั้งตลอดสายน้ำ
“ชาวบ้านที่เก็บปลาได้ทันก่อนปลาจะตายต้องเอาไปเร่ขายเพียงกิโลละ 50 บาท ส่วนที่จับขายไม่ทันและตายคากระชังก็ต้องปล่อยทิ้ง จนผู้เลี้ยงปลากระชังแต่ละรายต้องขาดทุนเป็นจำนวนหลายแสนบาท” ชาญณรงค์ กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่า จากลักษณะน้ำที่มีความเย็นจัดและมีความขุ่นสูงทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นน้ำที่ปล่อยออกมาจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งได้มีการปล่อยน้ำออกมาอย่างกระทันหันจนชาวบ้านท้ายน้ำไม่ทันตั้งตัว และเกิดความเสียหายต่อผู้เลี้ยงปลากระชังดังที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม่น้ำโขง ระบบนิเวศลุ่มน้ำสายเลือดหลักอีสาน ที่น่าเป็นห่วงกังวล
เตือน ปชช.ริมฝั่งแม่น้ำโขงเพิ่มสูง 0.5-2 ม. หลังเขื่อนจิ่งหงจากจีน ระบายน้ำ
นอกจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับผลกระทบแล้วนั้น กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวของ อ.เชียงคาน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าร้านอาหารบริเวณหาดนางคอย ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ที่ระดับน้ำโขงที่ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมร้านค้าและพัดเอาร้านค้ากว่า 6 ร้าน ให้ลอยหายไปกับกระแสน้ำ
“จริงๆ แล้วหน้านี้ก็เป็นหน้าน้ำที่แม่น้ำโขงจะมีน้ำมากอยู่แล้ว แต่ลักษณะการเพิ่มระดับน้ำและน้ำที่ท่วมในปี้นี้แตกต่างไปจากธรรมชาติ เพราะน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านตั้งตัวกันไม่ทัน” ชาญณรงค์ กล่าว
ทางด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้โพสต์ข้อมูลล่าสุด สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 น. ในช่วงวันที่ 10-15 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 จังหวัด ได้แก่ นครพนมและบึงกาฬ จำนวน 17 อำเภอ 112 ตำบล 662 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,280 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 83,322 ไร่