กัมพูชา ให้ความสำคัญกับ “โลมาอิรวดี” ที่ลดลงเหลือเพียง 90 ตัวสุดท้าย สั่งจัดตั้งเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำโขง พร้อมทีมลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน ปกป้องโลมาที่เหลือจากการถูกฆ่า
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ได้สั่งการให้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำโขง เพื่อปกป้องโลมาอิรวดีที่ใกล้สูญพันธุ์ หลังจากที่ โลมา 3 ตัวติดอวนประมงและแหจับปลาตายเมื่อเดือนที่แล้ว
โลมาอิรวดี โลมาน้ำจืดเคยว่ายผ่านแม่น้ำโขงตลอดลำน้ำในอดีต แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาถูกจำกัดไว้เพียง 190 กิโลเมตร (118 ไมล์) จากจังหวัดกระแจะ ตะวันออกเฉียงเหนือถึงชายแดนลาว ประชากรของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในปี 2540 โดยลดลงจาก 200 ตัวในปีนั้น เหลือเพียงประมาณ 90 ตัวในปัจจุบัน เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยและการทำประมงแบบทำลายล้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฮุน เซน กล่าวในพิธีที่เมืองกระแจะ สั่งให้ทางการตั้งป้ายลอยรอบเขตคุ้มครองโลมาที่กำหนด ซึ่งจะมีการห้ามการจับปลาทั้งหมดอย่างเด็ดขาด
“ผู้นำกัมพูชาเสริมว่าการคงอยู่ของสัตว์เหล่านี้มีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ซึ่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่อยู่ของโลมาและปลาชนิดต่างๆ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ จะต้องได้รับการจัดการอย่างดี เพื่อไม่ให้โลมาตายจากการเข้าไปติดอวน พื้นที่อยู่อาศัยของโลมา จะต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์”
โลมาวัยเจริญพันธุ์สุขภาพดี 3 ตัว ตายภายในหนึ่งสัปดาห์ติดต่อกันเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้นักอนุรักษ์ตื่นตระหนก และเรียกร้องให้มีการลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อปกป้องโลมาที่เหลือจากการถูกฆ่าโดยการทำประมงผิดกฎหมาย
ที่มา : channelnewsasia
จากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มีโลมา 11 ตัวตายในปี 2565 ทำให้จำนวนโลมาตายทั้งหมด 29 ตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ WWF เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ออกกฎหมายและออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาการตาย ที่เกิดจากการคุกคามของอวนและการจับปลาด้วยไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์โลมาอย่างเร่งด่วน
สำหรับโลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นโลมาที่มีหัวกลม ลำตัวสีเทาหรือน้ำเงินเข้ม ความยาวประมาณ 178-274 เซนติเมตร ช่วงท้องมีสีเทาอ่อนกว่ามีครีบหลังเล็กๆ เป็นรูปร่างสามเหลี่ยมปลายมน และครีบข้างที่กว้างและยาว น้ำหนักตัวจะอยู่ประมาณ 98-159 กิโลกรัม ตามข้อมูลบอกว่าเจอโลมาน้ำจืดชนิดนี้ครั้งแรกในแม่น้ำอิรวดี ประเทศเมียนมา เลยเรียกว่า “โลมาอิรวดี”
กัมพูชาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีจำนวนมากที่สุด ซึ่งพบได้ในแม่น้ำและทะเลสาบในเมียนมาร์ อินโดนีเซีย อินเดีย และไทย
สถานการณ์โลมาอิรวดีในประเทศไทย
ช่วงปลายปี 2565 ผอ.ราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมโลมาอิรวดีอยู่ในทะเล แพร่กระจายอยู่ฝั่งอ่าวไทย แต่มีฝูงนึงได้เข้ามาอยู่ในทะเลสาบสงขลาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี กลายเป็นโลมาอิรวดีในน้ำจืด อาศัยบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งช่วงฤดูฝนน้ำค่อนข้างจืดสนิทและช่วงน้ำทะเลหนุนมีความเค็มไม่มาก นับเป็นแหล่งโลมาน้ำจืด 1 ใน 5 แห่ง ของทั่วโลกซึ่งจำนวนโลมาอิรวดีในไทยเหลือน้อยมาก จากการสำรวจล่าสุดเมื่อมีนาคม ด้วยเครื่องบินเล็กและสัมภาษณ์ชาวประมง ชาวบ้านในพื้นที่ สรุปวิเคราะห์ประเมินได้ว่าโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาเหลือ ประมาณ 14 ตัวไม่เกิน 20 ตัว ถือว่าสถานการณ์วิกฤติเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน
ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่