svasdssvasds

ธารน้ำแข็ง อายุ 20,000 ปี ของตุรกีกำลังละลาย จี้ปิดเพื่ออนุรักษ์

ธารน้ำแข็ง อายุ 20,000 ปี ของตุรกีกำลังละลาย จี้ปิดเพื่ออนุรักษ์

ธารน้ำแข็งอายุ 20,000 ปีในเทือกเขาซีโลของตุรกีกำลังละลายอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อน สูญเสียพื้นที่ไป 55% ใน 30 ปี และอาจหายไปภายใน 20 ปี

SHORT CUT

  • ธารน้ำแข็งอายุ 20,000 ปีในตุรกีสูญเสียพื้นที่ไป 55% ใน 30 ปี และความลึกลดลงจาก 200 เมตรเหลือไม่ถึง 50 เมตร เนื่องจากภาวะโลกร้อน
  • นักวิทยาศาสตร์เสนอปิดพื้นที่เพื่ออนุรักษ์  จำกัดนักท่องเที่ยวและใช้มาตรการป้องกัน เช่น คลุมธารน้ำแข็งด้วยวัสดุพิเศษ ลดความเสียหายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
  • ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็ง 9 ล้านล้านตันตั้งแต่ปี 1975 ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ 

ธารน้ำแข็งอายุ 20,000 ปีในเทือกเขาซีโลของตุรกีกำลังละลายอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อน สูญเสียพื้นที่ไป 55% ใน 30 ปี และอาจหายไปภายใน 20 ปี

เทือกเขาซีโลในจังหวัดฮักการี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็งเก่าแก่ที่มีอายุ 20,000 ปี ตั้งตระหง่านอยู่ที่ความสูง 4,135 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่สถานะนี้อาจคงอยู่ได้ต่อไปอีกไม่นานนัก

เนื่องจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลทำให้ธารน้ำแข็งแห่งนี้สูญเสียพื้นที่ปริมาณมหาศาลทุกปี สร้างความเป็นกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอให้ปิดกั้นพื้นที่จากนักท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ธารน้ำแข็งแห่งดังกล่าว

ธารน้ำแข็ง อายุ 20,000 ปี ของตุรกีกำลังละลาย จี้ปิดเพื่ออนุรักษ์

 

การละลายครั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในธารน้ำแข็ง

ศาสตราจารย์ฟารุก อะลาเอดดิโนกลู (Faruk Alaeddinoğlu) จากมหาวิทยาลัย Van Yüzüncü Yıl University ((YYÜ) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ Daily Sabah ของตุรกีว่า ธารน้ำแข็งในเทือกเขาซีโลสูญเสียพื้นที่ไปถึง 55% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

“ความแตกต่างของอุณหภูมิในเทือกเขาซีโล ซึ่งตั้งอยู่ที่ความสูง 4,135 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลนั้นสูงกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับกับอุณหภูมิในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าของประเทศ ส่งผลให้น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วกว่าเดิมและชั้นน้ำแข็งที่เคยมีความลึก 200 เมตร ตอนนี้ลดลงเหลือไม่ถึง 50 เมตร”

จากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ความลึก 50 เมตรไม่ถือเป็นมวลของธารน้ำแข็งอีกต่อไป

ศาสตราจารย์อะลาเอดดิโนกลูระบุด้วยว่าการละลายครั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในธารน้ำแข็ง ทำให้เกิดรอยแตก เกิดช่องว่างและอุโมงค์ ธารน้ำแข็งที่เหลือส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายและกำลังเสื่อมสภาพอย่างหนัก

 

ธารน้ำแข็งอายุ 20,000 ปีของตุรกีอาจละลายหมดใน 20 ปีข้างหน้า

ศาสตราจารย์อะลาเอดดิโนกลูเตือนว่าหากไม่มีการอนุรักษ์ ธารน้ำแข็งเก่าแก่แห่งนี้อาจละลายหายไปจนหมดภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า

ธารน้ำแข็ง อายุ 20,000 ปี ของตุรกีกำลังละลาย จี้ปิดเพื่ออนุรักษ์

“ธารน้ำแข็งเหล่านี้ เป็นมรดกอันมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เผยให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ที่สุดของภูมิศาสตร์อนาโตเลีย เราต้องปกป้องสิ่งมหัศจรรย์แห่งนี้ไว้”

เทือกเขาซีโลได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติของตุรกีในปี 2020 ดึงดูดผู้ที่รักธรรมชาติและนักเดินป่าหลายร้อยคนให้เดินทางมาเยือนพื้นที่แห่งนี้เป็นประจำทุกปี

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์อะลาเอดดิโนกลู เชื่อว่า ทางการตุรกีควรปิดธารน้ำแข็งแห่งนี้และคลุมด้วยวัสดุป้องกันเป็นชั้น ๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์สภาพของธารน้ำแข็งเอาไว้ โดยระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ผู้คนเดินไปมาบนธารน้ำแข็ง ซี่งเป็นการกระทำที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายกับธารน้ำแข็งได้ ผู้มาเยือนควรถ่ายภาพธารน้ำแข็งจากระยะไกลเท่านั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังได้รู้จักธารน้ำแข็งเหล่านี้จากในหนังสือ แต่ควรได้มาชมด้วยตาตัวเอง

การอนุรักษ์ธารน้ำแข็งเป็นเรื่องของการอยู่รอด

นอกเหนือจากธารน้ำแข็งเก่าแก่ในตุรกีแห่งนี้แล้ว ธารน้ำแข็งทั่วยุโรปและทั่วโลกกำลังเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายที่คล้ายคลึงกัน

ข้อมูลจากหน่วยงานเฝ้าติดตามธารน้ำแข็งโลก (WGMS) ระบุว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งไปแล้ว 9 ล้านล้านตันนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี 1975 โดยศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล เซมป์ ผู้อำนวยการของหน่วยงาน WGMS ระบุว่า ปริมาณธารน้ำแข็งที่สูญเสียไปนี้เทียบเท่าก้อนน้ำแข็งขนาดเท่าประเทศเยอรมนีที่มีความหนา 25 เมตร

รายงานสถานะภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ขององค์การกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ในระหว่างปี 2022 – 2004 ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียมวลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 3 ปีดังกล่าว โดย “เซเลสเต เซาโล”  (Celeste Saulo) เลขาธิการ WMO ระบุว่า เจ็ดในสิบปีที่สมดุลมวลน้ำแข็งสมดุลติดลบมากที่สุดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยอ้างอิงถึงความแตกต่างระหว่างปริมาณน้ำแข็งที่ธารน้ำแข็งได้รับจากหิมะตกและปริมาณที่ธารน้ำแข็งสูญเสียไปจากการละลายตามฤดูกาล

หน่วยงานของสหประชาชาติเตือนด้วยว่า สถานการณ์นี้กำลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่น้ำท่วม ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ไปจนถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น การอนุรักษ์ธารน้ำแข็งไม่ใช่แค่ความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการอยู่รอด

 

ที่มา: Euro News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related