svasdssvasds

"คาร์บอนดำ" มลพิษร้ายแรงที่กำลังทำให้ธารน้ำแข็งในเอเชียละลาย

"คาร์บอนดำ" มลพิษร้ายแรงที่กำลังทำให้ธารน้ำแข็งในเอเชียละลาย

ไม่ได้มีแค่คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้นที่เราต้องกังวล เพราะ 'คาร์บอนดำ' ก็เป็นอีกหนึ่งมลพิษที่กำลังทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจนน้ำแข็งในเอเชียเกิดการละลาย

SHORT CUT

  • คาร์บอนดำ คืออนุภาคหรือผงเขม่าที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์
  • คาร์บอนดำมีคุณสมบัติในการดูดซับแสงอาทิตย์ เมื่อมันเกาะลงบนพื้นผิวที่มีหิมะหรือน้ำแข็งจะส่งผลให้ความร้อนถูกดูดซับเร็วขึ้นและทำให้น้ำแข็งละลายรวดเร็วกว่าปกติ
  • เมื่อธารน้ำแข็งละลายในอัตราที่รวดเร็วขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม วิกฤตขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียจึงเพิ่มมากขึ้น

ไม่ได้มีแค่คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้นที่เราต้องกังวล เพราะ 'คาร์บอนดำ' ก็เป็นอีกหนึ่งมลพิษที่กำลังทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจนน้ำแข็งในเอเชียเกิดการละลาย

มลพิษที่มีลักษณะเป็นผงฝุ่นสีดำที่เราแทบจะมองไม่เห็น กำลังอยู่เบื้องหลังการละลายของธารน้ำแข็งตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงอาร์กติก นับเป็น 'มลพิษร้ายแรง' ที่มีพลังในการทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ และถือเป็นระเบิดเวลาสำหรับระบบน้ำของโลก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งของเอเชีย

คาร์บอนดำ หรือ Black carbon คือ อนุภาคหรือผงเขม่าเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ มีแหล่งที่มาหลัก ได้แก่ เครื่องยนต์ดีเซล เตาทำอาหาร การเผาไม้ และไฟป่า

ผงฝุ่นนี้ยังเป็นองค์ประกอบหลักของ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในปอดและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ 

\"คาร์บอนดำ\" มลพิษร้ายแรงที่กำลังทำให้ธารน้ำแข็งในเอเชียละลาย

ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ คาร์บอนดำมีคุณสมบัติในการดูดซับแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมันเกาะลงบนพื้นผิวที่มีหิมะหรือน้ำแข็ง คาร์บอนดำจะทำให้พื้นผิวบริเวณนั้นมืดลง ส่งผลให้ความร้อนถูกดูดซับเร็วขึ้นและทำให้น้ำแข็งละลายรวดเร็วกว่าปกตินั่นเอง

คาชบู ชาร์มา นักวิเคราะห์ด้านมลพิษทางอากาศจากศูนย์พัฒนาภูเขาแบบบูรณาการระหว่างประเทศ (ICIMOD) ในกรุงกาฐมาณฑุ ระบุว่า เมื่อธารน้ำแข็งละลายในอัตราที่รวดเร็วขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม วิกฤตขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียจึงเพิ่มมากขึ้น

\"คาร์บอนดำ\" มลพิษร้ายแรงที่กำลังทำให้ธารน้ำแข็งในเอเชียละลาย

รายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่โดย Clean Air Fund ระบุว่าจีนและอินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนดำมากที่สุดในโลก ทั้งจากโรงไฟฟ้า โรงงานเหล็กและซีเมนต์ โรงอิฐ โรงสีข้าวและโรงงานน้ำตาล ต่างก็ปล่อยมลพิษออกมาในปริมาณมหาศาล นอกจากนี้ยังมีไฟป่าในรัสเซีย และการขนส่งในสหรัฐฯ

แม้คาร์บอนดำจะมีอายุขัยสั้นเพียงไม่กี่วันถึงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งต่างจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศมาหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงมาก นอกจากจะทำให้ธารน้ำแข็งละลายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อฝนมรสุม ทำให้เกิดความร้อนจัด และทำให้น้ำท่วมรุนแรงขึ้นอีกด้วย

หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษ เอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดที่ต้องรับผลกระทบ เราจะเผชิญน้ำท่วมจากการละลายของน้ำแข็งบ่อยขึ้น ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนชุมชนบางแห่งอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้

นี่คือผลกระทบที่จะตามมาจากการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รัฐบาลทั่วโลกจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศให้มากกว่านี้ โดยต้องตระหนักว่านี่คือปัญหาของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ส่วนใดของโลกก็ตาม