ทำไมการค้นพบ ต้นไม้โบราณ อายุราว 5,900 ปี ถึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถย้อนเวลาไปสำรวจสภาพอากาศ และระบบนิเวศของโลกหลายพันปีก่อนได้ ?
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง พบ “ต้นสนเปลือกขาว” กว่า 30 ต้น ขณะกำลังเดินสำรวจทางโบราณคดีอยู่บนที่ราบสูงในเขตไวโอมิง สหรัฐอเมริกา บนความสูง 3,100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ผู้อ่านอาจเริ่มฉงนกันแล้ว การค้นพบครั้งนี้มันมีความสำคัญอย่างไร ลองพิจารณาสิ่งดังต่อไปนี้ดูก่อน...
เรื่องนี้มีเหลี่ยมสำคัญอยู่ราว 2-3 แง่มุม ประการแรก หลังจากค้นพบ นักวิทย์ฯ กลุ่มนี้ ได้มีการนำต้นสนไปตรวจสอบ และพบว่า พวกมันน่าจะมีอายุราว ๆ 5,900 ปี
ถามว่ารู้ได้ยังไง วิธีที่คลาสสิคที่สุดก็คือ การตรวจสอบวงปีต้นไม้ เพื่อคำนวณอายุด้วยคาร์บอนในต้นไม้ พูดให้เป๊ะ จริง ๆ ต้องบอกว่า ต้นสนเหล่านี้มีชีวิตอยู่เมื่อ 5,950 - 5,440 ปีก่อน
ประการสองคือ ที่ความสูงระดับนี้ พื้นที่ราบสูงส่วนใหญ่มักถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งเดิมทีต้นสนเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ธารน้ำแข็งนี่แหละ แต่เหตุผลหลาย ๆ ประการทำให้น้ำแข็งละลาย พวกมันจึงปรากฏให้เห็น
ประการที่สามคือ แคธี วิทล็อค จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนแทน่า หรือ Montana State University (MSU) เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วต้นสนเปลือกขาวไม่สามารถเติบโตที่ระดับความสูงขนาดนี้ได้ ข้อสันนิษฐานมีอยู่ว่า หรือเมื่อหลายพันปีก่อน อากาศอบอุ่นกว่านี้
นอกจากนี้ ต้นสนเปลือกขาวที่พบในครั้งนี้ อยู่ในลักษณะนอนราบกองเบียดกันอยู่บนพื้น และอยู่ในสภาพยอดเยี่ยม แม้มีบางส่วนเปราะ สึกหรอไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังถูกอนุรักษ์เอาไว้อย่างดี ประหนึ่งแช่เอาไว้ในช่องฟรีซตู้เย็นไม่มีผิด
เควิน อันชูไกติส นักบรรพภูมิอากาศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ค้นพบ เปิดเผยว่า “ต้นไม้คือ “แคปซูลเวลา” ที่บอกเล่าให้เราทราบว่าป่าบนภูเขาเหล่านี้เมื่อ 6,000 ปีก่อนเป็นอย่างไร และยังบอกเล่าถึงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ป่าเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้”
ที่มา: New Scientist, SmithSonianmag
ข่าวที่เกี่ยวข้อง