svasdssvasds

คุ้มไหม? อินโดนีเซียตัดต้นไม้แทบหมดป่า ส่งออกเป็นพลังงานชีวมวล

คุ้มไหม? อินโดนีเซียตัดต้นไม้แทบหมดป่า ส่งออกเป็นพลังงานชีวมวล

ป่าไม้บริสุทธิ์จำนวนมหาศาลกำลังถูกตัดโค่นลงทั่วประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตอบสนองความต้องการชีวมวลจากนานาประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ป่าไม้ดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของประเทศต่างๆ เพื่อไปสู่การใช้พลังงานรูปแบบที่สะอาดยิ่งขึ้น

จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลการส่งออกของอินโดนีเซีย พบว่ามีต้นไม้จำนวนมากที่ถูกโค่นลงจากป่าทั่วทั้งหมู่เกาะ เพื่อการผลิตสิ่งที่เรียกว่า "เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด" (wood pellets) ตั้งแต่ปี 2021 โดยเชื้อเพลิงชีวมวลเหล่านั้นจะถูกส่งไปที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งมีการจัดสรรเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนโครงการนี้

เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด คือเชื้อที่ผลิตจากวัสดุอินทรีย์ เช่น พืช เศษไม้ หรือยางพารา ที่ผ่านการแปรสภาพโดยการอบไล่ความชื้น แล้วนำไปบดอัดเป็นแท่ง เป็นแหล่งผลิตพลังงานความร้อนจากธรรมชาติที่จัดเก็บได้ง่ายและยาวนานมากขึ้น

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและนักสิ่งแวดล้อมเริ่มแสดงความกังวลว่า ความต้องการชีวมวลในระดับนานาชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกฎระเบียบที่ไม่เข้มงวด จะทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อป่าไม้ของประเทศ

ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ความต้องการชีวมวลก็เพิ่มมากขึ้น โดย สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศกล่าวว่า ทั่วโลกมีการใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2022

โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือความต้องการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ของเสียและเศษซากพืชผลทางการเกษตร แทนการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพลังงานชีวภาพ เพราะการตัดไม้ทำลายป่าหมายถึงการทำลายพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ คุกคามสัตว์ป่า และทำให้ภัยพิบัติจากสภาพอากาศเลวร้ายรุนแรงขึ้น

ด้านนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมหลายคน ต่อต้านการใช้ชีวมวลโดยสิ้นเชิง พวกเขากล่าวว่าการเผาชีวมวลจากไม้ สามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าถ่านหิน และการตัดต้นไม้ทำให้ป่าไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้ การใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงร่วมแทนที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดโดยตรงจึงไม่ต่างจากการยืดอายุการใช้ถ่านหินเท่านั้น