โดยปกติแล้วการปลูกต้นไม้คือหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยกย่องว่าแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ในทุกสถานที่ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า หากปลูกต้นไม้ในอาร์กติกอาจทำให้สภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงกว่าเดิม
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Nature Geoscience ชี้ว่า การปลูกป่าในบริเวณละติจูดสูง เช่น อาร์กติก อาจก่อให้เกิดผลลัพท์ที่เลวร้ายได้ เนื่องจากดินในอาร์กติกทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าพืชทุกชนิดบนโลก ทำให้ดินเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมวัฏจักรคาร์บอนของโลก
อย่างไรก็ตาม ดินเหล่านี้เปราะบางมาก กิจกรรมต่างๆ เช่น กาปลูกป่าที่ทำให้เกิดการแทรกซึมของรากไม้ลงในดินสามารถรบกวนระบบนิเวศดั้งเดิม ส่งผลให้คาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้จำนวนมากถูกปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศแทน
นอกจากนี้ ระบบนิเวศในบริเวณละติจูดสูง เช่น ทุ่งทุนดราและหนองบึง ได้ถูกวิวัฒนาการมาเพื่อสะท้อนแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ การแทนที่ภูมิประเทศดังกล่าวด้วยป่าไม้สีเขียวเข้มจะไปเปลี่ยนแปลงการสะท้อนแสง ทำให้เกิดความร้อนในบริเเววณดังกล่าวมากขึ้น เสี่ยงที่น้ำแข็งจะละลายมากกว่าเดิม
นี่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการแก้ปัญหาสภาพอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยได้เสนอทางเลือกอื่นแทน เช่น ดูแลประชากรสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อย่าง "กวางแคริบู" ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เพราะสัตว์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศในอาร์กติก พวกมันช่วยให้พื้นที่ทุ่งทุนดราเปิดโล่งด้วยการกินพืชชนิดอื่น ทำให้ทุ่งทันดราสะท้อนแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การลดลงของประชากรสัตว์กินพืชขนาดใหญ่สามารถส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่นและสภาพหิมะในลักษณะที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ และสัตว์เหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐานสำหรับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย