งานวิจัยล่าสุดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โลกสูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ยปีละ 270,000 ล้านตัน เทียบเท่าการใช้น้ำของประชากรโลกตลอด 30 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะน้ำแข็งที่ละลาย จากโลกเดือดทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 32 ซม.
งานวิจัยใหม่ล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ประเมินสถานการณ์ธารน้ำแข็งทั่วโลกเป็นครั้งแรก พบว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายไปแล้วกว่า 5% เทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 3 สระ
นักวิจัยทั้งหมด 25 ทีม ร่วมมือกันรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธารน้ำแข็ง 230 แห่งทั่วโลก ผลลัพธ์ที่พบคือ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2000 ถึง 2023 ธารน้ำแข็งทั่วทั้งโลกสูญเสียปริมาตรไปประมาณ 5% นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่ 2% ในแอนตาร์กติกาไปจนถึง 40% ในเทือกเขาแอลป์ของยุโรป
แต่ตัวเลขชัด ๆ คือ โลกสูญเสียน้ำแข็งโดยเฉลี่ย 270,000 ล้านตันต่อปี ถึงตรงนี้คุณรู้สึกว่ามันเยอะไหม ตัวเลขระดับแสนล้านมันสะกิดต่อมให้เกิดความตระหนักได้บ้างหรือไม่ ถ้ายังลองพิจารณาตัวเลขดัานล่างดูก่อน
ไมเคิล เซมป์ ผู้อำนวยการของบริการตรวจสอบธารน้ำแข็งโลก หรือ World Glacier Monitoring Service ได้เปรียบเทียบตัวเลขการละลายของน้ำแข็งไว้เห็นภาพได้ง่าย ๆ ว่า ปริมาณน้ำแข็ง 2.7 แสนล้านตันที่ละลายในหนึ่งปี เทียบเท่ากับการบริโภคน้ำของประชากรโลก เป็นเวลา 30 ปี
แอนดี้ เชพเพิร์ด หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนอร์ธัมเบรีย เปิดเผยว่า “การรู้ว่าโลกนั้นสูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปมากแค่ไหน ถือเป็นเรื่องดีสำหรับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล รวมถึงผู้ที่เป็นกังวลกับสภาวะโลกเดือด”
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าหากโลกไม่จำกัดอุณหภูมิไว้ตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement โลกจะสูญเสียธารน้ำแข็งจำนวน 1 ใน 4 เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับทวีปยุโรป ที่ระยะเวลาเพียง 20 ปีเศษ ๆ ก็สูญเสียน้ำแข็งไปแล้ว 39%
ธารน้ำแข็งอันไกลโพ้นสำคัญยังไง ? ธารน้ำแข็งสีขาวโพลนเหล่านั้น มีหน้าที่เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าธารน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำ จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทันที 32 ซม.
ที่มา: BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง