นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงพยายามศึกษา "ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก" ที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นกังวล หวังจะใช้ 'วิศวกรรมธรณี' เพื่อชะลอการละลายไม่ให้ไปถึงจุดที่น้ำท่วมทั่วโลก
ธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites) คือหนึ่งในแนวธารน้ำแข็งที่ทอดตัวอยู่ตามแนวขอบของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตก ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่ารัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ถึงสามเท่า ที่ให้เกิดความกังวลว่าหากวิกฤติโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งดังกล่าวเกิดการละลายไปจนหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเข้าท่วมผืนแผ่นดินของหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง นั่นทำให้มันถูกเรียกด้วยอีกชื่อว่า "ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก"
ผลการวิจัยชิ้นล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ และมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู พบว่า กระแสน้ำที่อุ่นขึ้นกำลังเร่งการละลายของธารน้ำแข็งทเวตส์ให้เร็วยิ่งกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้ธารน้ำแข็งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการพังทลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้พวกเขาต้องเร่งหาวิธีชะลอการละลาย
หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ถูกนำเสนอคือ การใช้ "วิศวกรรมธรณีน้ำแข็ง" หรือกระบวนการใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชะลอหรือหยุดการละลายของธารน้ำแข็งแม้ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นก็ตาม เช่น การสร้างม่านใต้น้ำขนาดยักษ์ที่จะป้องกันไม่ให้กระแสน้ำอุ่นไหลเข้าถึงธารน้ำแข็งได้อย่างน้อยบางส่วน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังคงเผชิญกับการต่อต้าน เนื่องจากทำได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุผลสำเร็จ ทั้งยังกลายเป็นการหันเหความสนใจออกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะวิศวกรรมธรณีไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่เป็นเพียงยาแก้ปวดเพื่อชะลอวิกฤติไว้ชั่วคราวเท่านั้น