svasdssvasds

วิจัยใหม่เผยคนทั่วไปจะจนลง 40% หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส

วิจัยใหม่เผยคนทั่วไปจะจนลง 40% หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส

งานวิจัยใหม่ของออสเตรเลียชี้ หากอุณหภูมิที่สูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะทำให้คนทั่วไปยากจนลง 40% และสภาพอากาศสุดขั้วจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าแบบจำลองทางเศรษฐกิจในอดีตประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่ำเกินไป รวมถึง การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานแบบต่อเนื่อง

งานวิจัยใหม่เปิดเผยว่าแบบจำลองทางเศรษฐกิจมักประเมินผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อความมั่งคั่งของผู้คนต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างเป็นระบบ โดยพบว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะส่งผลทำให้คนทั่วไปยากจนลง 40% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมถึงเกือบ 4 เท่า

ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) โดยเฉลี่ยทั่วโลกจะลดลง 16% แม้ว่าจะควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าประมาณการก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.4% เท่านั้น

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.1 องศาเซลเซียส แม้ว่าประเทศต่างๆ จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระยะสั้นและระยะยาวก็ตาม

วิจัยใหม่เผยคนทั่วไปจะจนลง 40% หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส

แบบจำลองเศรษฐกิจเดิมอาจมองข้ามความเสี่ยงสำคัญ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้นว่าชุดเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “แบบจำลองการประเมินแบบบูรณาการ” (Integrated Assessment Models : IAM) ซึ่งใช้กำหนดแนวทางว่ารัฐบาลควรลงทุนเท่าใดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ไม่สามารถสะท้อนความเสี่ยงที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้

ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters ได้นำแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแบบจำลองหนึ่งมาปรับปรุงโดยรวมการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไป เพื่อสะท้อนผลกระทบของภัยพิบัติทางสภาพอากาศเลวร้ายที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ดร.ทิโมธี นีล (Dr Timothy Neal) จากสถาบันความเสี่ยงและการตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย และผู้เขียนนำของการศึกษานี้ ระบุว่า การศึกษาใหม่นี้ได้พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศหลายคนมองว่าเป็นหายนะสำหรับโลก โดยพบว่าจะทำให้คนทั่วไปมีรายได้ลดลง 40% เมื่อเทียบกับการใช้แบบจำลองเศรษฐกิจแบบเดิมที่คาดการณ์ว่ารายได้ของคนทั่วไปจะลดลงเพียง 11%

ดร.นีล กล่าวว่า แบบจำลองทางเศรษฐกิจในอดีตที่ได้ข้อสรุปโดยไม่ได้ตั้งใจว่าภาวะโลกร้อนในระดับสูงจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการกำหนดนโยบายด้านสภาพอากาศ พร้อมระบุด้วยว่า แบบจำลองทางเศรษฐกิจมักจะคำนึงถึงแค่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แทนที่จะคำนึงถึงผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

วิจัยใหม่เผยคนทั่วไปจะจนลง 40% หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส

ภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้ว
ศาสตราจารย์แอนดี้ พิตแมน (Prof Andy Pitman) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าวว่า ผลกระทบที่แท้จริงเกิดขึ้นในช่วงสภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ใช่แค่ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ
“การปรับปรุงแบบจำลองเศรษฐกิจให้สามารถคำนึงถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและผลกระทบที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถประเมินความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างถูกต้อง และดำเนินการในสิ่งที่ควรทำที่สุด นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก"

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนโต้แย้งว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจได้รับการชดเชยบางส่วน เนื่องจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นอาจเป็นประโยชน์กับบางภูมิภาคของโลกที่มีอุณหภูมิหยาวเย็นจัด เช่น แคนาดา รัสเซีย และยุโรปตอนเหนือ แต่ดร.นีลระบุว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกจะส่งผลกระทบกับทุกประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเชื่อมโยงกันผ่านการค้า

ด้านศาสตราจารย์แฟรงก์ โยตโซ (Prof Frank Jotzo) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า แบบจำลองทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใช้โมเดล “แบบจำลองการประเมินแบบบูรณาการ” มักตั้งสมมติฐานว่า หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น เกษตรกรรม ไม่สามารถดำเนินต่อไปในบางพื้นที่ของโลก การผลิตที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่อื่นจะสามารถชดเชยได้
“ผลลัพธ์ที่ได้คือแบบจำลองเหล่านี้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแทบไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตรเกี่ยวกับผลกระทบทางกายภาพและความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็น”การประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ

วิจัยใหม่เผยคนทั่วไปจะจนลง 40% หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส

รายงานจากสถาบันและคณะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Institute and Faculty of Actuaries) ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมกราคม ระบุว่า การประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ล้มเหลวในการคำนึงถึงผลกระทบของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริง เช่น จุดพลิกผัน เหตุการณ์รุนแรง การอพยพ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

รายงานระบุว่า ผลลัพธ์ที่ดูเหมือนไม่ร้ายแรงแต่มีข้อบกพร่องนี้ อาจตอกย้ำแนวคิดที่ว่าความเสี่ยงเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นช้าและมีผลกระทบจำกัด ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่ต้องดำเนินการทันที

“มาร์ก ลอว์เรนซ์” ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในฐานะศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยแอดิเลดและเคยทำงานระดับอาวุโสด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของสถาบันการเงินรายใหญ่หลายแห่ง เช่น Merrill Lynch และ ANZ Banking Group กล่าวว่า ผลของการวิจัยใหม่นี้มีความน่าเชื่อถือ โดยระบุว่า หากให้พูดตามตรง เชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เสียอีก

“ลอว์เรนซ์” ทิ้งท้ายว่า ผลที่ตามมาจากการขาดความเชื่อมโยงระหว่างแบบจำลองทางเศรษฐกิจและผลกระทบของสภาพภูมิอากาศในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับจากการดำเนินนโยบายด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วนถูกประเมินค่าต่ำเกินไป