svasdssvasds

แม่น้ำโขง ระบบนิเวศลุ่มน้ำสายเลือดหลักอีสาน ที่น่าเป็นห่วงกังวล

แม่น้ำโขง ระบบนิเวศลุ่มน้ำสายเลือดหลักอีสาน ที่น่าเป็นห่วงกังวล

แม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนหลายๆประเทศตลอดเส้นทางแม่น้ำ รวมถึงผู้คนในภาคอีสาน กำลังเผชิญชะตากรรมจากผลกระทบจากระดับน้ำที่ผันผวน ปัญหาอื่นๆทางสิ่งแวดล้อมหลายปีที่ผ่านมา นับวันยิ่งวิกฤต วิถีชีวิตของคนริมโขงเปลี่ยนไปจนน่าตกใจ

• ต้นกำเนิดแม่น้ำโขง 

“แม่น้ำโขง” มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็ง-หิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตทางตอนเหนือทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศ ถึง 6 ประเทศ โดยแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ประเทศจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,350 กิโลเมตร  ความยาวเป็นอันดับ 12 ของโลก และ เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่ แม่น้ำแยงซี และ แม่น้ำเหลือง ในจีน 

ในแง่ของประเด็นสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้แม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี นับเป็น 1ใน 4  ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก 

นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200  ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด เกือบทุกปีนักวิทยาศาสตร์จะระบุชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้รับการค้นพบเพิ่มขึ้น และยังมีสัตว์บางชนิดที่สามารถได้เพียงในแม่น้ำแห่งนี้เท่านั้น อาทิ “ปลาบึก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่แม่น้ำโขงมีมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างปฏิเสธไม่ได้  เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ 

หนึ่งในนั้นคือผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดสายน้ำแม่น้ำโขง ตั้งแต่จีน , และ ลาว ซึ่งมีผลทำให้ กระทบชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมโดยรอบ น้ำอาจเอ่อท่วมที่ดินทำกิน 

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง (ที่มา Mymekong.org) จัดทำเมื่อ ธ.ค. 2021

เสียงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลแบบเห็นได้ชัดคือ แม่น้ำโขงไร้ตะกอน ความสวยงามที่มาพร้อมกับสัญญาณที่ไม่ดี , โดย ปกติน้ำโขงจะเป็นสีออกขุ่นๆ เนื่องจากมีตะกอน แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนวางตัวกั้นแม่น้ำโขง ตะกอนที่มากับน้ำจะถูกกักไว้หน้าเขื่อน น้ำที่ล้นออกมาจึงใสเพราะน้ำตกตะกอนแล้ว ซึ่งตะกอนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลิ่งไม่พังและยังเป็นธาตุอาหารของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขง  

นอกจากนี้ ระบบนิเวศแม่น้ำโขงยังต้องเจอกับ ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปหมด ผลพวงมาจากปล่อยน้ำของเขื่อนไม่อิงตามฤดูกาล แต่อิงตามความต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ฤดูฝนน้ำกลับแล้ง ในฤดูแล้งน้ำกลับเยอะ ซึ่งแน่นอนว่า กระทบต่อระบบนิเวศ 

นอกจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแล้ว แม่น้ำโขงก็ยังได้รับผลกระทบในเรื่องอื่นๆ ด้วย อาทิ 

• การทำประมงเกินขนาด
•มลพิษจากขยะที่ทิ้งไม่ถูกวิธี 
• การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่มีผลกระทบกับคนทั้งโลก ในทุกๆพื้นที่ 

แม่น้ำโขง ระบบนิเวศลุ่มน้ำสายเลือดหลักอีสาน ที่น่าเป็นห่วงกังวล Credit  ภาพ Nation Online
ปัจจัยทางการจึงทำให้ แม่โขง ต้องเฝ้าระวัง และต้องให้ต้องได้รับการดูแล จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทุกๆขณะ โดยข้อมูลจาก www.mymekong.org ระบุว่า ในช่วง แม่น้ำโขงแห้งและไหลต่ำ ความผันผวนของน้ำและความแห้งแล้ง เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกันและขณะนี้ระดับน้ำโขงไหลต่ำในช่วงต้นปี 2022  โดยรูปแบบ การไหลของแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ปริมาณของแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งและลดลงในฤดูฝนสาเหตุจากการกักเก็บของเขื่อนต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงตามมา

ณ เวลานี้ แม่น้ำโขง ระบบนิเวศลุ่มน้ำสายเลือดหลักอีสาน คงอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วงกังวล...และในพื้นที่อื่นๆของไทย รวมถึงของโลก ก็อยู่ในสถานะไม่แตกต่างกัน...

ที่มา https://bit.ly/3CVqgnH

https://bit.ly/3F903VD

https://prachatai.com/journal/2022/09/100416

 

related