svasdssvasds

โลกร้อน-มลพิษทะเล ทำแพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้น อ.ธรณ์ห่วงทะเลไทยใกล้ไร้ชีวิต

โลกร้อน-มลพิษทะเล ทำแพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้น อ.ธรณ์ห่วงทะเลไทยใกล้ไร้ชีวิต

สถานการณ์สภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้น ร่วมกับการปล่อยน้ำทิ้งจากภาคเกษตร กำลังทำให้ทะเลไทยเกิดปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้นเรื่อยๆ อ.ธรณ์ เตือน ต้องเร่งจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้น อนาคตคนไทยอาจไม่มีปลาทะเลกิน

จากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมรุนแรงในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ที่เปลี่ยนน้ำทะเลแถบบางแสน จ.ชลบุรี ให้กลายเป็นสีเขียว ประกอบกับเหตุน้ำมันรั่วลงทะเลที่ศรีราชาเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ปลาลอยตายขึ้นมาเกยหาดที่ชายหาดบางแสนเป็นจำนวนมาก

เนื่องด้วยปรากฎการณ์ดังกล่าว ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ปลาตายเกลื่อนหาดมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับแพลงก์ตอนบลูมรุนแรง เพราะแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มจำนวนอย่างสุดขีดจนน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียว จะแย่งเอาออกซิเจนที่สัตว์น้ำใช้หายใจไปจนหมด ทำให้ทะเลขาดออกซิเจน และสัตว์น้ำขาดอากาศหายใจตายเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ธรณ์ เผยว่า จากข้อมูลจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. ทำร่วมกับสถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา บ่งบอกว่าน้ำเหล่านี้มีความตายแอบซ่อนอยู่ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังจากสถานีเก็บน้ำประจำจุดต่างๆ ในทะเลศรีราชา พบว่าน้ำบริเวณที่เกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี แบ่งเป็นชั้น โดยน้ำชั้นน้ำล่างๆ มีออกซิเจนต่ำมาก (ต่ำกว่า 2 mg/l) ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

ปลาตายเกลือนกลาดบริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี  ที่มาภาพ: ปู ชลบุรี

ชั้นน้ำที่มีออกซิเจนละลายอยู่ต่ำมากนี้ ถือเป็น Dead Zone หรือพื้นที่ไร้ชีวิต ที่ออกซิเจนมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเล โดย ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าทะเลไทยยังไม่ถึงกับต้องกลายเป็น Permanent Dead Zone (พื้นที่ไร้ชีวิตถาวร) แต่หากทะเลไทยยังคงเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนประมง และผู้บริโภค จนค่อยๆ หายไป

“คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องจากสถานีศรีราชา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลัง บอกได้ว่าน้ำเขียวแถวนี้จะเกิดช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม สอดคล้องกับลมมรสุมที่พัดน้ำเขียวมาสู่ฝั่งด้านนี้ หมายความว่าขึ้นเดือนพฤศจิกายนเมื่อไหร่ น้ำจะดีขึ้น และดีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงพฤษภาคมปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีเอลนีโญ ซึ่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนสิ้นปี อาจเกิดความแปรปรวนที่ต้องตามต่อไป” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

แผนภูมิแสดงค่าออกซิเจนละลายในน้ำทะเล ซึ่งจะเห็นว่า ในช่วงหน้าแพลงก์ตอนบลูมจะมีค่าความแกว่งของออกซิเจนในน้ำมาก

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้แพลงก์ตอนบลูมจะหมดไปเมื่อเข้าหน้าหนาว แต่ทว่ามันจะกลับมาใหม่ในหน้าฝนปีหน้า และอาจมากขึ้นถี่ขึ้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทางออกจึงไม่ง่าย แต่เรายังพอทำอะไรได้บ้าง โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาดังนี้

  1. เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย/แก้ไขระยะสั้นกลางยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่
  2. ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดันโดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปกติจะทำงานไหว
  3. ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย/งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง

ปลาลอยตายเกลื่อนหาดบางแสน  ที่มาภาพ: ปู ชลบุรี

ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อข้าวปลาอาหาร ต่อรายได้จุนเจือครอบครัว มันเยอะกว่าเงินที่ใช้ลงทุนมหาศาลทะเลคือแหล่งกระจายรายได้ดีที่สุด สร้างอาชีพสร้างงาน ขอเพียงรักษาทะเลที่สมบูรณ์ไว้ คนริมทะเลก็ยังหาเช้ากินค่ำต่อไปได้ แต่หากทะเลกลายเป็นเช่นนี้ จะหาเช้าหาค่ำก็คงไม่พอกิน และหนี้สินก็จะตามมาธรรมชาติที่ดีคือเศรษฐกิจที่ดี ธรรมชาติที่ดีคือทุกคนที่อยู่รอบๆ มีความสุข มีอาชีพมีรายได้เพียงพอ แต่ถ้าทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่าครับ” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related