svasdssvasds

เตือนแพลงก์ตอนบลูมทำสัตว์น้ำเป็นพิษ กินแล้วเสี่ยงอัมพาต

เตือนแพลงก์ตอนบลูมทำสัตว์น้ำเป็นพิษ กินแล้วเสี่ยงอัมพาต

แพทย์นักสิ่งแวดล้อมออกโรงเตือน ปัญหาแพลงก์ตอนบลูมจากไนโตรเจนล้นทะลัก ร้ายแรงกว่าสภาวะโลกร้อน ทำทะเลเป็นพิษ ระบบนิเวศพัง ลามถึงความปลอดภัยอาหารมนุษย์

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอสายสิ่งแวดล้อม และอาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์เฟสบุ๊คย้ำเตือนถึงความร้ายแรงของปัญหาแพลงก์ตอนบลูม ที่กำลังลุกลามรุนแรงอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนใน แถบ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยได้ถ่ายภาพท้องทะเลเป็นสีเขียว พร้อมโพสต์ข้อความว่า

ภาพแพลงตอนบลูม เปลี่ยนทะเลเป็นสีเขียวที่ศรีราชา จ.ชลบุรี  ที่มาภาพ: Rungsrit Kanjanavanit

“เพื่อนผม ถ่ายภาพนี้จากเครื่องบิน บริเวณทะเลแถวศรีราชา น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ Algae bloom เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณของไนโตรเจน ล้นทะลักลงไปในทะเลเป็นจำนวนมาก กระตุ้นให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่ายเซลล์เดียว ขบวนการนี้เรียก Eutrophication”

“ในฤดูฝน จะมีการชะล้างสารอินทรีย์ โดยเฉพาะ ปุ๋ยเคมี ลงไปในแหล่งน้ำและทะเล กระตุ้นการเติบโตของสาหร่าย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามฤดูกาลแต่ในช่วงหลังก็พบว่าเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจาก climate change และ El Niño ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด algae bloom ขึ้นครับ”

นพ.รังสฤษฎ์ อธิบายต่อว่า เมื่อเกิดปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม แพลงก์ตอนเหล่านี้จะดึงเอาออกซิเจนในน้ำมาใช้ จนทำให้น้ำทะเลมีค่าออกซิเจนต่ำ จนเกิดเป็น Dead Zone ที่ทะเลขาดออกซิเจนจนสัตว์น้ำขาดอากาศหายใจตาย

ปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมรุนแรง จนน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่ชายหาดบางแสน  ที่มาภาพ: ชอบจัง บางแสน

ยิ่งไปกว่านั้น นพ.รังสฤษฎ์ ยังเตือนว่า แพลงก์ตอนบางชนิด เช่น Cyanobacteria และ Dinoflagellates ซึ่งมีสารพิษ saxitoxin ซึ่งมีฤทธิ์คล้าย tetrodotoxin (TTX) ที่พบใน ปักเป้า แมงดาถ้วย-เหรา เมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไปจะสะสมในร่างกาย เมื่อคนกินสัตว์น้ำเหล่านี้ก็จะได้รับสารพิษ จนเกิดเป็นโรค Paralytic Shellfish Poison (PSP) หรือ โรคพิษอัมพาต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สาร Saxitoxin (STX) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดพิษต่อระบบประสาทนี้ เป็นสารพิษที่ละลายได้ในน้ำ และมีสมบัติที่สำคัญคือ สามารถทนต่อความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารได้ จึงไม่สามารถทำลายสารพิษโดยการหุงต้มได้ เมื่อทานเข้าไป สารพิษนี้จะไปขัดขวางการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท จนเกิดอัมพาตเฉียบพลัน หยุดหายใจได้เลย

จากข้อมูลสืบค้นพบว่า สำหรับในเมืองไทยได้มีรายงานการเกิดน้ำแดงที่เป็นพิษ PSP ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2526 โดยเกิดที่ปากแม่น้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ป่วย 63 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากกินหอยแมลงภู่ที่จับมาจากบริเวณที่เกิดแพลงก์ตอนบลูม

ปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมรุนแรง จนน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่ชายหาดบางแสน  ที่มาภาพ: ชอบจัง บางแสน

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวย้ำว่า ปัญหาไนโตรเจนล้นทะลัก หรือ nitrogen load นี้ ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุด รุนแรงยิ่งกว่าภาวะโลกร้อนเสียอีก เนื่องจากความรุนแรงของปัญหาที่เกินเลยขีดความสามารถของระบบพยุงชีวิตตามปกติของดาวเคราะห์โลกจะปรับสมดุล ฟื้นตนเองเองได้

ดังนั้น เขาจึงได้ออกมาย้ำเตือนทุกรัฐบาล ให้หันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และเข้าใจเรื่อง ขีดความสามารถในการรองรับของโลก (Planetary Boundaries) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปกป้อง รักษา ดูแลโลก

related