SHORT CUT
รัฐบาลญี่ปุ่น เตรียมแผนรับมือกรณีภูเขาไฟฟูจิปะทุ แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยเน้นมาตรการอพยพ และการรับมือเถ้าถ่านในพื้นที่เสี่ยง
ใครเพิ่งกดจองตั๋วไปเที่ยวโตเกียว และหวังว่าจะไปฉกชิมวิวอันสวยงามของฟูจิซัง อย่าเพิ่งใจเสียหรือตื่นตระหนกไป ลองพลิกอ่านบทความนี้ดูก่อน
ล่าสุด คณะผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เสนอมาตรการรับมือเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว และพื้นที่ใกล้เคียง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ “ภูเขาไฟฟูจิปะทุ”
จะเรียกว่าตื่นตระหนกก็คงไม่ได้ ก่อนอื่น สื่อญี่ปุ่น หรือแม้สื่อต่างประเทศ รายงานค่อนข้างตรงกันว่าฟูจิซังไม่ได้จะปะทุในเร็ววันนี้ แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลที่ต้องกำหนดแผนปฏิบัติ (action plan) ในกรณีที่ฟูจิซังปะทุขึ้นมาจริง ๆ
อย่างที่ทราบ แดนอาทิตย์อุทัยคือ ประเทศที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง นั่นทำให้ญี่ปุ่นมีแผนรับมือแผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ ไว้ถึงพร้อมหมดแล้ว
เหลือก็แต่ภูเขาไฟปะทุนี่แหละ ที่ยังไม่มีแผนรับมือ วันหนึ่งวันใดฟูจิซังเกิดตื่นขึ้นมาไม่บอกกล่าว ถึงตอนนั้น ถ้าประชาชนไม่รู้จักวิธีเอาตัวรอดต้องแย่แน่ ๆ
ไม่ใช่ว่าเป็นการหละหลวมของรัฐบาลก่อน ๆ แต่อย่างใด แต่นี่เป็นเพราะหนสุดท้ายที่ฟูจิซังเกิดปะทุครั้งใหญ่คือ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 1707 หรือเมื่อราว ๆ 300 ปีก่อน จนกระทั่งมอดดับไปในวันที่ 24 ก.พ. 1708 เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ ฟูจิซังก็นอนหลับมายาวนาน และไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เสนอว่า โตเกียว และจังหวัดโดยรอบ เป็นเขตที่ค่อนข้างแออัด ไม่สามารถอพยพออกได้ทันท่วงที
สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเถ้าถ่านไม่เกิน 30 เซนติเมตร ควรหลบภัยอยู่ที่บ้านหรือที่อื่นๆ ซึ่งความจริงแล้ว ประชาชนในพื้นที่ที่มีเถ้าถ่านสะสม 30 เซนติเมตรขึ้นไป ต้องอพยพออกไป เพราะมีความเสี่ยงที่บ้านไม้จะพังถล่มลงมาภายใต้แรงกดของเถ้าถ่านเปียกหากเกิดฝนตก
ทั้งนี้ ประชาชนควรเตรียมสิ่งของจำเป็นไว้สำหรับประทังชีวิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และภาครัฐควรจัดตั้งระบบเพื่อเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการคาดการณ์เถ้าถ่านจากภูเขาไฟ และรัฐบาลกลางและท้องถิ่นจำเป็นต้องกำหนดเส้นทางอพยพ
ศาสตราจารย์กิตติคุณฟูจิอิ โทชิสึงุ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า “ประเทศจำเป็นต้องเริ่มเตรียมการสำหรับภัยพิบัติ (ภูเขาไฟระเบิด) ตั้งแต่ตอนนี้”
ที่มา: NHK
ข่าวที่เกี่ยวข้อง