svasdssvasds

ถ้าธรรมแท้ แม้วงเหล้าก็คุยได้ สนทนาธรรมเคล้าเสียงด่า ฉบับ คนตื่นธรรม

ถ้าธรรมแท้ แม้วงเหล้าก็คุยได้ สนทนาธรรมเคล้าเสียงด่า ฉบับ คนตื่นธรรม

ถ้าจะนึกถึงอินฟลูเอนเซอร์สายธรรมะ เวลานี้คงไม่มีใครดังเกิน อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม เจ้าของวลี “กระโถนตีปาก” อีกแล้ว

ลีลาการพูดก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เขามอบให้ผู้ติดตามคือการตอบปัญหาฉบับธรรมโค๊ชที่เรียบง่าย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องผัวซุกเงิน ยุงเข้าบ้าน จนถึงนรกมีจริงไหม แล้วในนรกเขาพูดภาษาอะไรกัน 

ถึงแม้เขาจะไม่สวมผ้าเหลือง แต่ในฐานะฆราวาสผู้สนใจธรรมะ เขาลงลึกในหลักพุทธศาสนาและอ้างอิงองค์ความรู้ผ่านหนังสือ ‘พุทธวจน’ หนังสือทั้ง 5 เล่มที่รวมเรื่องราวของพระพุทธเจ้าจากพระโอษฐ์โดยตรง โดยพุทธทาสภิกขุแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย 

ในห้วงเวลาที่พุทธศาสนาถูกท้าทายมากที่สุด ข่าวฉาวเกี่ยวกับผ้าเหลืองมีไม่เว้นแต่ละวัน SpringNews เดินทางไปที่บ้านเดี่ยวร่มรื่นหลังหนึ่งในย่านหนองจอก แล้วนั่งลงที่เก้าอี้พลาสติกที่มักเป็นที่ประจำของลูกศิษย์ลูกหาของคนตื่นธรรม ส่วนเขานั่งลงบนแคร่ไม้ด้วยท่าพับเพียบเช่นเดียวกับที่ทำประจำในไลฟ์ 

เราชวนเขาคุยตั้งแต่คำถามยากๆ อย่าง ธรรมะที่แท้จริงคืออะไร? พุทธกับพาณิชย์ไปด้วยกันได้ไหม? เรื่อยไปจนถึงเราทำบุญไปทำไม และโลกหลังความตายมีจริงไหม? 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

ก่อนเริ่มอัดเสียง คุณเล่าว่าการฝึกสมาธิต้องฝึกฝนทุกวัน พูดได้ไหมว่ามันไม่ต่างจากการเล่นกีฬาเลย

ถูกต้อง อยากเป็นนักกีฬาเก่งๆ ก็ต้องฝึกซ้ำบ่อยๆ อยากจะเป็นนักภาวนาเก่งๆ ก็ต้องภาวนาซ้ำบ่อยๆ หลักการเดียวกันหมดเลย การใช้ชีวิตและการภาวนาคือเรื่องเดียวกัน มันคือสัจจะของโลก สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงให้การภาวนาเป็นเรื่องเดียวกับการใช้ชีวิต แต่ในปัจจุบัน การใช้ชีวิตกลับเป็นเรื่องคนละเรื่องกับการภาวนา คนเลยไม่อยากเข้าวัด คนเลยไม่อยากปฏิบัติธรรม แต่ถ้ามันเข้ากันได้คนก็จะอยากทํา

อย่างล่าสุดอาจารย์ไปคุยกับ นอท กองสลากพลัส (พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์) อาจารย์ไม่รู้ว่าเขากินเหล้าอยู่เพราะเขาใส่แก้วทึบมา ทีนี้ทัวร์ลงนอทเละเลย บอกคุยธรรมะกับอาจารย์แต่ดันมานั่งกินเหล้า แต่มันคุยรู้เรื่องนะ มันคุยธรรมะได้ คนเราเนี่ยมองธรรมะเป็นเรื่องสูง ตีขุมว่าห้ามสนทนาธรรมในวงเหล้า

สมัยพุทธกาล คนกินเหล้าพระพุทธเจ้าก็สอน โสเภณีในโรงพระพุทธเจ้าก็สอน องคุลิมารฆาตกรต่อเนื่องพระพุทธเจ้าก็สอน แต่ทําไมในยุคปัจจุบันเรากลับแยกออกจากกันหมด

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเจอใครถามธรรมตามร้านตลาด พระพุทธเจ้าตอบได้เลย ทุกวันนี้การจะฟังธรรมหนึ่งครั้งต้องจุดธูปบูชาพระรัตนตรัย ต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยพนมมือ ธรรมโดนดึงออกจากการใช้ชีวิต ออกจากไลฟ์สไตล์ของเรา และดึงออกไปอยู่กับหลักพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่หลักของการได้ยินได้ฟังธรรมในชีวิตปัจจุบัน



 

สิ่งที่อาจารย์สอนคือการนำธรรมเข้าไปในไลฟ์สไตล์ เข้าไปในชีวิตประจําวันผ่านการไลฟ์สด พอมันเข้าสู่ชีวิตประจำวัน คนเราก็ขวนขวายอยากศึกษามากขึ้น มันเป็นที่มาของคำว่าคนตื่นธรรม เขารู้สึกว่าธรรมที่อาจารย์สอนมันอยู่ในครอบครัวเขา มันอยู่ในเรื่องที่สามีภรรยาทะเลาะกัน ผัวแอบซ่อนเงินเมีย เมียดึงทุกอย่างจากผัวมาอยู่ที่ตัวเอง แบบนี้เขาเลยรู้สึกว่าธรรมเป็นเรื่องในชีวิตเขา และทำให้ธรรมพระพุทธเจ้ากลับเข้ามาได้ง่าย

 

สังคมไทยมักมองว่าคนหรือองค์กรที่อยู่กับพระดังๆ มักจะเป็นดี มีภาพลักษณ์ที่ดี ทําไมศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องฉาบความดีขององค์กรหรือตัวบุคคล

มันเป็นเรื่องปกติ เราต้องเข้าใจก่อนว่าที่มันฉาบแสดงว่ามันมีเบื้องหลัง เขาพยายามเอาสิ่งขาวมาปกปิดความดํา โดยการเอาพระที่มีคนศรัทธามากหรือสามารถสอนธรรมมากลบเกลื่อนสิ่งไม่ดีในองค์กรของเขา เพื่อให้คนไม่ต้องสนใจกับเบื้องหลังของเขาว่าเป็นยังไง

อีกกรณีนึง เอาพระเข้ามาเพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่เขา ถ้ามีเจตนาดี ก็จะทำให้คนในองค์กรมีหลักคุณธรรมจริยธรรมตามหลักคําสอนพระพุทธเจ้า แต่อีกแบบคือเพื่อผลประโยชน์ด้านอื่นขององค์กร เช่น ดึงอาจารย์มาเพื่อให้ผู้ศรัทธาอุดหนุนสินค้าเขา อันนี้เพื่อผลประโยชน์ด้านอื่น 

อย่าว่าแต่องค์กรเลย อะไรก็ตามที่เอาความเชื่อความศรัทธานําหน้ามักจะไม่ได้งาม เหมือนคนขายเครื่องรางของขลัง มักใช้ความเชื่อบังหน้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สุดท้ายก็นํามาซึ่งความเสื่อมทรามในชีวิตของตัวเอง และสร้างความเห็นผิดให้กับคนอีกมากมาย 

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น พูดได้ไหมว่าศาสนาถูกใช้เครื่องมือและถูกทำให้เสื่อมลง

มันมีหลายคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน หรือเอาศาสนาไปใช้เพื่อสร้างอํานาจบารมีของตน เพราะเมื่อคนศรัทธาแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เขาจะศรัทธาโดยไม่ยิงตรงไปที่คําสอน แต่จะตรงไปที่ตัวบุคคล 

ศรัทธากับความงมงายมันใกล้เคียงกันมาก คนที่ศรัทธาแบบมีปัญญาจะยึดตามหลักคําสอน ถึงตัวบุคคลจะเสื่อม แต่ถ้ายึดตามหลักธรรมะของพระองค์จะไม่มีวันเสื่อม เพราะมันถูกต้อง ตรงจริง ไม่จํากัดด้วยกาลเวลา แต่คนที่ศรัทธาแบบงมงายจะยึดที่ตัวบุคคล และถ้าบุคคลมันเสื่อม โอ้โห! มันจะร้องไห้น้ําตาไหลจะเป็นจะตายและเสื่อมตามบุคคลนั้นไป 

ในกรณีที่ศาสนาถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ เขาจะใช้คนที่มีทักษะในกลุ่มเดียวกัน เช่น ต้องเป็นพระสายนักปราชญ์ สายธุรกิจ สายนักขีดนักเขียน หรือพระที่มียศถาบรรดาศักดิ์ เพราะมันจะเข้ากับบริบทขององค์กรได้เหมาะเจาะ พระเหล่านี้จะสอนว่าทำอย่างไรถึงจะรวย ทําอย่างไรถึงจะประสบความสําเร็จ แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติอยู่ตามป่าตามเขา กลุ่มนี้จะไม่ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวกับองค์กรเหล่านี้ เพราะเขาไม่สนใจเรื่องรวยไง 



ในฐานะคนธรรมดา เราจะมีวิธีมองได้อย่างไรว่าพระรูปไหนเป็นตัวจริง 

ทางเดียวที่จะรู้คือศึกษา สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเสมอคือให้เราเรียนรู้หลักเกณฑ์ของเรื่องนั้นก่อนที่จะตัดสินใจทําอะไร เราจะเก่งกาจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องศึกษาในเรื่องนั้นอย่างดี และเราจะไม่โดนหลอกเพราะเราฉลาด แต่ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ เราก็จะโดนล่อลวงล่อหลอกไปได้ง่ายเพราะปัญญาเราไม่พอ 

ในโลกปัจจุบัน เราติดกับความรวยและความสําเร็จ ไลฟ์โค้ชในประเทศไทยมันจูนสมองเราให้คิดว่าเราต้องประสบความสําเร็จแบบนี้ ในโลกออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์เผยแพร่ความหรูหราฟุ่มเฟือย ทํางานน้อยแต่มีเงินมาก ซึ่งมันตรงกันข้ามกับชีวิตจริงที่คนต้องทํางานหนักกว่าจะได้เงินมากๆ ดังนั้น ถ้าเราไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความรู้ แต่อยากรวยอย่างเดียว เราก็จะเชื่อเขาแล้วยอมตัดสินใจลงทุน จนสุดท้ายเราก็จะลาดเอียงเทเอียงไหลเอียงตามเขาไป

ถ้าเราศึกษาตามหลักคําสอนไม่โลภ ใช้ชีวิตไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างมีเหตุมีผล ยอมรับความเป็นจริงว่ามีความสามารถแค่นี้มีเงินแค่นี้ ไม่มีทางมีบ้านมีรถเหมือนคนอื่นเขา ถ้าเรายอมรับตามความเป็นจริงนี้ได้ เราจะไม่โดนสิ่งเหล่านี้หลอก 



พุทธศาสนาสอนให้ลงทุนไหมและอย่างไร

การลงทุนอย่างเดียวที่พระพุทธเจ้าสอนคือ ลงทุนเพื่อมรรคผลนิพพาน ลงทุนในหลักธรรมคําสอน ลงทุนในการทําลายความเห็นผิดเพื่อก้าวเข้าสู่ความเห็นถูก แต่ถ้าเป็นฆราวาส พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ไว้เรียกว่าฆราวาสชั้นเลิศ เช่น เราจะต้องหารายได้ให้ท่วมรายจ่าย เพราะถ้ารายได้ท่วมรายจ่ายปัญหาก็ไม่เกิด ไม่เป็นหนี้สิน 

พระพุทธเจ้าสอนให้ดูตามบริบทหน้าที่ของตน เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วให้บํารุงตัวเองก่อน แล้วสืบต่อไปถึงแม่พ่อภรรยาสายโลหิตบุตรธิดา ค่อยๆ ไล่ลงไป เหลือค่อยแบ่งปันทรัพย์บําเพ็ญบุญ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักประมาณในการให้และการใช้ ถ้าเราเข้าใจคําว่าพอประมาณคําเดียวทุกอย่างจบเลย  

พระองค์บอกว่าจะลงทุนสิ่งใดก็ตามให้มองเห็นโทษเยอะๆ ถ้าเอาเงินนี้จ่ายไปจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมายังไง แน่ใจไหมว่าจะได้คืน ถ้าไม่ได้คืนมาจะยังมีเงินกินข้าวอยู่ไหม ถ้าพิจารณาทุกอย่างหมดแล้วว่ามันจะขาดทุน หยุดเลย ถ้าเรามองเห็นโทษที่อาจจะเกิดขึ้น เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อโดนล่อลวงจากใครได้เลย

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

อยากพาไปมองที่ภาพของวัดในไทย ทำไมบางวัดถึงกำหนดขั้นต่ำในการให้ทาน เช่น อย่างต่ำต้อง 250 บาท

สำหรับอาจารย์คำว่าพุทธพาณิชย์เป็นเรื่องที่เลวทราม พุทธแปลว่าผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม พาณิชย์แปลว่าการค้าการขายการได้ผลกําไร มันคนละเรื่องกันเลย คนนึงตื่นรู้แล้วไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ แต่ดันเอาไปรวมกับคำว่าพาณิชย์ 

อาจารย์ไม่เห็นด้วยกับการเอาเครื่องรางของขลังมาหารายได้เข้าวัด คําถามคือทำไมต้องหารายได้เข้าวัดด้วยวิธีนี้ ถ้าอยากจะสร้างวิหาร สร้างวัด อยากหาเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟต้องสร้างด้วยเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ถ้าวัดสอนธรรมะ หลักอริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 เดี๋ยวคนศรัทธาเขาก็ถวายเอง ดูอย่างวัดป่าวัดเขาเขายังอยู่กันได้เลย ทําไมเราต้องไปสร้างเหตุปัจจัยให้คนไปหลงอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์งมงายไร้สาระ

แล้วตั้งแต่ละรุ่น โคตรรวย, โคตรเจ้าสัว, โคตรพ่อโคตรแม่เจ้าสัวใหญ่ สุดท้ายมันนํามาซึ่งความโลภ ความอยากได้ทรัพย์ของคนอื่น นํามาซึ่งความเชื่อว่าสิ่งนี้จะดลบันดาลให้ตัวเองร่ำรวยเงินทอง มันหนีไม่พ้นสร้างความเห็นผิดให้คน อีกไม่นานคนเหล่านี้จะกลายเป็นมิจฉาชีพเต็มตัว เพราะเขาไม่ได้ให้ธรรมะ มีแต่หลอกว่าซื้อรุ่นนี้ไปแล้วจะแก้จนได้ อาศัยประสบการณ์ที่คนปรุงแต่งนํามาซึ่งการหลงผิดของคน วัดไหนทําเครื่องลางของขลังแล้วดัง ก็เรียกค่าใช้จ่ายได้เยอะ มีเงินในการซื้อยศซื้อตําแหน่ง มีอํานาจในการต่อรองกับสิ่งหลายสิ่งหลายอย่าง 

สมัยก่อนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทําเครื่องรางของขลังเพื่อเป็นกําลังใจให้คนระลึกถึงพระพุทธเจ้า บ้างแจกฟรีหรือขายองค์ละ 5 บาท 10 บาท แต่ปัจจุบันขายองค์ละเป็นหมื่นองค์เป็นแสน คนที่ซื้อไปจะนึกถึงอะไรได้นอกจากว่าจะขายได้กำไรเท่าไหร่ 



แล้วแบบนี้การขายคอร์สวิปัสสนาถือว่าเป็นพุทธพาณิชย์ด้วยไหม

ธรรมของพระพุทธเจ้าควรเป็นของฟรี พระพุทธเจ้าไม่เคยมาเปิดคอร์สเรี่ยไรเงิน อยากจะบริจาคก็บริจาค แต่การมากำหนดราคาแบบนี้แสดงว่าคนที่อยากเข้าใจธรรมะ แต่ไม่มีเงิน เขาเข้าใจธรรมไม่ได้ใช่ไหม 

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าสามารถสอนธรรมของพระองค์ได้ทุกระดับ แม้แต่จันฑาลซึ่งเป็นคนนอกวรรณะในอินเดีย พระพุทธเจ้าก็สอนเขาด้วยความเมตตาไม่คิดจะเก็บเงินแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น การใช้คําว่าคอร์สปฏิบัติธรรมยิ่งหนักยิ่งกว่าวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังอีก
 

ในโลกของทุนนิยมที่ทุกอย่างดําเนินด้วยเงิน วัดจะดํารงอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีสินค้าขาย

คำถามคือทําไมวัดต้องมีเงินเยอะแยะ ในเมื่อพระพุทธเจ้าบอกว่าให้ปลีกวิเวก หลีกเลี่ยง ให้อยู่อาศัยเท่าที่มี ทําไมต้องขวนขวายไปสร้างอะไรที่มันมากมายเกินกว่าจําเป็น 

ถ้าจําเป็นสร้างเลย แต่ถ้าไม่จําเป็นหรือเกินกว่าจําเป็นจะสร้างทําไม วัดบางแห่งมีศาลาใหญ่โตที่ไม่เคยเดินเข้าไป บางที่ปิดล็อคเปิดให้เข้าปีละครั้ง คําถามคือมันมีประโยชน์อะไรในการก่อสร้างของเหล่านี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าการสร้างวิหาร ศาลา โรงธรรมเพื่อให้พระจากทั่วจตุรทิศมาอาศัยอยู่รวมกัน แต่ยิ่งสร้างใหญ่โตท่าไหร่ มันก็มีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟตามมา ทำไมไม่สร้างให้พอดีกับการใช้ใช้สอย 

ทำไมพระต้องใช้เงินในเมื่อบิณฑบาตขออาหารเขาฉันทุกวัน ถ้าพระมีการสอนธรรมะ เดี๋ยวฆราวาสญาติโยมก็อยากจะสนับสนุน ดูตัวอย่างอาจารย์ ขนาดไม่เป็นพระ มาสอนธรรมะตามหลักสัจจะความจริงของพระพุทธเจ้า คนยังแห่เอาลาภสักการะมาให้ตั้งมากมาย แล้วถ้าเป็นสุปฏิปันโนปฏิบัติตามหลักคําสอนพระพุทธเจ้า ทําไมคนจะไม่เกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาเขาจะมาแห่กันมาบริจาคให้ 

ทําไมจะต้องไปขายเครื่องลางของขลังเพื่อเอาเงินมาซ่อมบํารุง ถ้าไม่สร้างจะมีอะไรต้องซ่อมไหม ถ้าสร้างใหญ่โตก็ต้องซ่อมใหญ่โต รู้อยู่แล้วว่าโทษของการก่อสร้างมันเป็นเหตุเสื่อมตัวแรก ทําไมยังก่อยังสร้างกันมากมาย

แต่ถ้าสร้างแล้วเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก แบบนั้นสร้างเลย แต่ให้ดูแลกันเองได้ ไม่ใช่ไปตกเป็นภาระหน้าที่ของพระต้องมานั่งเรี่ยไรทรัพย์ มันทำให้ญาติโยมมีความเห็นผิดเข้าหาวัดด้วยเจตนาอยากรวย มันไม่นำไปสู่การดับทุกข์ด้วยอริยสัจ 4 

ฉะนั้น การเข้าหาพระคืออยากพ้นทุกข์ด้วยการได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ในปัจจุบันคนอยากพ้นทุกข์ด้วยการไปซื้อเครื่องรางของขลัง สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา อาบน้ํามนต์พ่นน้ําหมาก จ่ายเงินแล้วบอกว่าฉันกําลังจะพ้นทุกข์ มันต่างกันมากนะ อย่างแรกฟังธรรมพ้นทุกข์ได้จริง อย่างที่สองเอาเครื่องรางของขลังไปพกให้ตายก็พ้นทุกข์ไม่ได้

[ภาพ: ภูมิสิริ ทองทรัพย์]

พระที่เดินตามพระพุทธเจ้าจะอยู่ได้อย่างไร ในโลกที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ตื่นเช้ามาตักบาตรเหมือนเดิมแล้ว

เราว่ามันเป็นอย่างงั้นจริงไหม ถ้าเราไปวัดอาหารมีแค่แกงถุงเดียวหรือมีแกงเป็นร้อยถุง แต่เรากลับบอกว่ามันเป็นยุคที่คนตื่นสายไม่มีใครใส่บาตร แต่พระกลับมีอาหารเหลือเฟือ ปัญหามันคือเราไปคิดกันเองว่าคนตื่นสายขึ้นและใส่บาตรน้อยลง แต่ความเป็นจริง คนที่ใส่บาตรก็ยังใส่เหมือนเดิมและคนที่ไม่ใส่ก็ยังไม่ใส่เหมือนเดิม เป็นเรื่องปกติ แล้วจํานวนของคนใส่บาตรกับพระคิดว่าใครมากกว่ากัน 

ปัญหามันคือเราไปคิดกันเองว่าคนตื่นสายขึ้นและใส่บาตรน้อยลง แต่ความเป็นจริง คนที่ใส่บาตรก็ยังใส่เหมือนเดิมและคนที่ไม่ใส่ก็ยังไม่ใส่เหมือนเดิม

ปัญหาคือเราโดนสอนว่าทําบุญทุกครั้งต้องใส่ซอง กลายเป็นว่าพระก็ติดนิสัยสามารถรับเงินรับทองได้ตามปกติ ทั้งทั้งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าไม่อนุญาตให้รับ แต่พระก็ถามว่าไหนซองล่ะโยม ไม่ใส่เหรอ โดนพระทวงอีก มันโดนสอนกันมาแบบนี้จนเกิดปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เกิดความเข้าใจผิด เกิดความเห็นผิด เกิดความหลงผิด 

เราไม่ได้บอกว่าห้ามฆราวาสญาติโยมถวายเงินพระ ไม่เคยพูด แต่ให้ถวายไว้กับไวยาวัจกรตามหลักคําสอนพระพุทธเจ้า คําถามคือทําไมเดี๋ยวนี้ไม่แต่งตั้งไวยาวัจกร ลืมไปหรือเปล่าว่านี่เป็นคําสอนจากศาสดาของตน ถ้าไม่เชื่อแสดงว่าตัวเองไม่มั่นใจในศาสดา

แต่นี่พระไปหาข้ออ้างในการจะรับเงิน บอกกลัวว่าไวยาวัจกรจะโกงเงิน ซึ่งถ้าไวยาวัจกรโกงเงินจริงก็ต้องยอม ถือเป็นวิบากกรรมต้องรับผลไป พระจะไปยึดมั่นถือมั่นในเงินไม่ได้ 

พระที่รับเงินรับทองเปรียบเหมือนรับอสรพิษ สุดท้ายมันก็แว้งกลับมาฉกตัวผู้รับ เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลสโดยตรง ทุกวันนี้พยายามจะหาข้ออ้างกันว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน พระต้องรับเงินทองได้ แล้วใครสั่งให้มีทีวีในวัดในเมื่อพระพุทธเจ้าบอกว่าห้ามฟัง ห้ามร้องรําทําเพลงดีดสีตีเป่า ห้ามดูการละเล่นละครเกิดเสียค่าไฟมากขึ้นกว่าเดิมอีก พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามทุกอย่าง แต่ทุกวันนี้พระทําหมดทุกอย่าง มันจึงเป็นความเสื่อมทรามของพุทธศาสนาในปัจจุบัน 

อาจารย์ไม่ได้ตําหนิพระทั้งหมด ตําหนิพระเฉพาะที่ไม่ทําตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า พระที่ควรแก่การสรรเสริญมีมากมาย อาจารย์เดินทางมานะเพราะเราเห็นว่าพระในละแวกบ้านปฏิบัติไม่ตรงตามหลักคําสอน เราก็ไม่ติ เราใช้วิธีเดินหลีกออกด้วยการไปหาพระที่ดีใส่บาตรแทน อยากจะใส่บาตรทีต้องแบกสังขารไปพุทธมณฑลสาย 3 เพื่อที่จะไปใส่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่อาจารย์จรรโลงใจในตัวท่านว่าเป็นพระที่ปฏิบัติดี พวกเราก็ต้องขวนขวายกันเอาเอง หาพระที่ดีที่เป็นเนื้อนาบุญแก่เรา 
ดูเหมือนคุณมองว่าพระที่ไม่ดีจะสลายไปเอง แต่มีวิธีไหนไหมที่จะตรวจสอบพระหรือองค์กรสงฆ์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันบ้างไหม

เราไม่จําเป็นต้องไปตรวจสอบพระเลย ถ้าพวกเราชาวพุทธช่วยกันศึกษาหลักคําสอนของพระพุทธเจ้า ช่วยกันตรวจสอบว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล ศึกษาพระธรรมพระวินัยคู่กันไป เราจะรู้เลยว่าพระแบบไหนไม่ควรนับถือ พระแบบไหนเป็นเนื้อนาบุญคู่ควรต่อการกราบไหว้ 

แต่ปัญหาคือเราคิดว่าพระก็เป็นพระเหมือนกัน ทําบุญได้เหมือนกันแหละ เพราะเราไม่มีความรู้มากพอว่าทําบุญกับพระเหมือนกันแต่ได้ไม่เท่ากัน ทำบุญกับพระมีศีลย่อมได้มากกว่าพระทุศีล ทําบุญกับคนดีย่อมได้มากกว่าทําบุญกับคนเลว เราทําบุญที่ไหนก็ได้ แต่คําถามคืออยากได้น้อยหรืออยากอยากได้มาก ถ้าเรารู้เราจะเลือกเฟ้นอย่างละเอียดละออ แต่ไม่รู้จึงไม่เลือก ทําไปตามประเพณีปู่ย่าตายายทํามาก็ตามกันไป

พระพุทธเจ้าบอกว่าธรรมะของพระองค์ให้จัดการที่ตัวเราเอง เหมือนที่อาจารย์พยายามสอนทุกวันนี้ ไม่ได้ให้ไปจัดการใคร ให้จัดการตัวเอง อย่าสาระแนเรื่องชาวบ้าน พอเรารู้มากขึ้นเราจะหลีกหนีและแยกแยะได้เอง



คุณพูดว่าทําบุญกับพระองค์หนึ่งจะได้บุญเท่านี้ เราสะสมแต้มบุญไปเพื่ออะไร

มันฟังดูจะคล้ายแต้มใช่ไหม แต่ความหมายคือผลลัพธ์ ยกตัวอย่าง อาหารทําให้เราได้รับโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ ทําให้เราสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็ได้ เช่นเดียวกับการทําบุญ ถ้าเราทําบุญกับเนื้อนาที่ดี เราจะได้บุญมาก มีผลให้ภูมิของเราแข็งแรง หมายความว่าเราจะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ในชีวิต นี่คือผลลัพธ์ที่ตัวบุญส่งผลให้แก่เรา 

บุญคือการกระทําทางกาย วาจา และความรู้สึกนึกคิดจิตใจ 

  • การทําบุญโดยการทางกาย เช่น เราขวนขวายหาเงินทองแล้วเอาเงินไปบริจาคให้อาหารหมาแมว 
  • การทำบุญทางวาจา เช่น พูดจาดีๆ ให้กําลังใจคนอื่น สอนธรรมะแก่เขา 
  • การทำบุญทางใจ เช่น ละทิ้งความอาฆาตพยาบาทมาดร้าย อย่าอยากได้ทรัพย์คนอื่น 

และถ้าเราทําทั้งหมดสุจริตหมดแล้ว เราจะมีความสุขไม่มีความทุกข์ เพราะฝ่ายบุญทําให้เรามีความสุขได้ในปัจจุบัน แต่ถ้าเราทำบุญกับพระไม่ดี แล้ววันนึงไปเจอพระดีจะเกิดข้อเปรียบเทียบ เราจะเริ่มเริ่มเดือดเนื้อร้อนใจ เริ่มสงสัยว่าจะได้บุญจริงไหม เริ่มเกิดความกังวล นี่คือผลลัพธ์ของการได้บุญมากหรือน้อย สุดท้ายผลมันตกอยู่กับปัจจุบันว่าเรามีความสุขหรือความทุกข์จากการทำบุญ

มันมีอีกกรณีนึง สมมติ ชาตินี้เราไม่เคยทำบุญกุศลเลยหรือทําบุญน้อยมาก แต่ได้โอกาสกลับมาเกิดเป็นคนอีกรอบ เราก็จะเกิดในตระกูลต่ำทราม ผิวพรรณวรรณะทราม เกิดในครอบครัวยากจน พิการซ้ำซ้อน นี่แหละทำไมถึงบอกว่าทำบุญเหมือนเก็บแต้มเพราะว่ามันจะไปส่งผลในชาติต่อไปนี่แหละ

[ภาพ: ภูมิสิริ ทองทรัพย์]

เราอธิบายเรื่องบุญบาปกับกลุ่มคนทำธุรกิจสีเทาได้อย่างไรบ้าง 

มันไม่เกี่ยวกับบุญบาป บุญบาปเป็นผลนําไปสู่ชีวิตถัดไป แต่ที่เขารวยกันในปัจจุบันคือเขาสร้างเหตุของความรวยของเขาด้วยการทําธุรกิจไม่ดี แต่นั่นคือความเก่งและความสามารถของเขาในปัจจุบัน เมื่อเขาทําได้ก็ย่อมได้รับผลของการกระทํานั้น นำมาซึ่งเงินตราและความสุขของเขาในชาติปัจจุบัน 

แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างมีผลของการกระทํา มันอาจจะยังไม่ส่งผลตอนนี้ แต่มันอาจจะส่งผลในเวลาถัดไปอีก ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่ทำชั่วแต่รวยในปัจจุบัน มันอาจจะตายแล้วไปอยู่ในนรกก็ได้ มันเป็นผลของการกระทําในระยะยาว

พวกเราเองอาจจะรู้สึกว่ามันไม่เห็นยุติธรรมเลย ทําไมคนนี้ทําชั่วแต่ได้ดี แต่อย่าลืมว่าใครทํากรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลของการกระทํานั้น แต่เวลามันส่งผล มันไม่จําเป็นต้องส่งพร้อมกัน เหมือนเวลาเรากินข้าวร่างกายได้รับวิตามินหลายชนิด แต่ร่างกายดูดซึมวิตามินพร้อมกันหรือเปล่า พระพุทธเจ้าเลยบอกว่าอย่าประมาทในกรรม เพราะมันเป็นอจินไตย มันประมาณไม่ได้ มันมีหลายเหตุปัจจัยในการใช้ชีวิตของเรา มันไหลไปเรื่อยตามปัจจัยเหล่านั่น นี่คือเหตุผลว่าทําไมมันยังมีคนรวยแต่เลว มีคนจนแต่ดี 

แต่อย่าลืมว่าเป็นคนดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเก่ง คนดีแต่โง่มีเยอะเขาจึงไม่รวย คนเลวแต่เก่งก็มีเขาจึงรวย แต่ผลของการกระทําของความเลวและความดีย่อมส่งผลแน่นอน ตอนไหนตอนนั้นตามเหตุตามปัจจัย



การพูดถึงนรกฟังดูเป็นความความเชื่อ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

นี่คือความจริงไม่ใช่ความเชื่อ กระทําสิ่งใดย่อมได้รับผลสิ่งนั้น สมมุติ อาจารย์ขายสิ่งผิดกฎหมาย อาจารย์ย่อมได้เงินจากการค้าสิ่งนั้น แต่วันนึงตํารวจตามจับอาจารย์ได้ จากเดิมที่อาจารย์มีเงินล้นฟ้าก็ไม่ได้ใช้ เพราะต้องเข้าคุกติดตาราง ต้องรับผลการกระทํา แต่ถ้าไม่ติดตารางก็แสดงว่าผลของการกระทํายังไม่ส่งผล 

ผลของการกระทํากรรมส่งผล 3 เวลา เวลาปัจจุบัน, เวลาถัดไป และเวลาถัดต่อไปอีก แต่เรามักมองในมุมเดียวว่าเธอเลวทราม เธอต้องชิบหายวายป่วงเดี๋ยวนี้

คําถามคือเราเอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดความเลวของคนอื่น เรารู้ได้ไงว่าคนนั้นเลวมากกว่าเรา ถ้าเราอยู่จุดเดียวกับเขาจะรู้ได้ไงว่าจะไม่ทำเหมือนเขา เราชอบมองตัวเองดีแต่มองคนอื่นเลวทรามต่ำช้าเลยคิดว่าคนอื่นสมควรได้รับผลของการกระทำของเขา เราต้องวัดความดีเลวจากเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ

ทุกคนต้องได้รับผลจากการกระทํา แต่ผลของมันไม่ได้ส่งตามความพอใจของใครคนนึง ทุกวันนี้ เราพยายามทําให้คนเลวได้รับผลตามความพอใจของเรา ไม่ใช่ตามกฎตายตัวแห่งธรรม 


เวลาที่เราพูดว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนเลว เราต้องวัดตามเกณฑ์ของพระพุทธเจ้าหรือ แล้วในศาสนาอื่นที่มีคอนเซ็ปท์เช่นการใช้ความรุนแรงปกป้องศาสนาล่ะ

ต้องใช้เกณฑ์พระพุทธเจ้า สุดท้ายแล้วเราต้องยึดก่อนว่าคําสอนของใครเป็นสัจจะความจริง ถ้าคําสอนของศาสนาอื่นเป็นสัจจะความจริงก็เป็นสัจจะความจริงสําหรับเขาไม่ใช่สําหรับเรา เรายึดตามหลักคําสอนพระพุทธเจ้า เราก็ต้องอิงคําสอนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าเราบอกว่าการทําลายการคนนอกศาสนาเพื่อปกป้องศาสนาเป็นสิ่งถูกต้อง แต่พระพุทธเจ้าเราสอนว่าการฆ่าสัตว์ผิดในกายกรรม หมายความว่าก็ผิดตามหลักสัจจะความจริงที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ 

ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง พวกเราทุกคนยอมรับว่าการเบียดเบียนคนอื่นไม่ใช่เรื่องดี คําสอนใดก็แล้วแต่ที่บอกว่าการเบียดเบียนเป็นความสุข มันขัดแย้งโดยตัวตัวเองอยู่แล้ว เพราะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไม่มีใครบนโลกต้องการให้ใครเบียดเบียนถูกไหม

 
ปลายทางของฆราวาสที่ศึกษาธรรมเช่นคุณคืออะไร 

เป้าหมายของอาจารย์คือนิพพาน ไม่มีการกลับมาเกิดปรากฏอีก อาจารย์ต้องการสิ้นทุกข์ในชาติปัจจุบัน จะได้ไม่ได้แล้วแต่เหตุปัจจัย อาจารย์แค่วางเป้าไว้แต่ไม่โหยหากับมัน ถึงแค่ไหนคือแค่นั้น 

เช่นเดียวกันการสอนธรรมพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ทุกคนมีเจตจํานงค์เดียวกันคือพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์สอนก็มุ่งหวังสิ่งเดียวกัน แต่ในสิ่งที่อาจารย์สอนมันมีความละเอียดละออต่างกัน ลําดับแรกอาจารย์ด่าเพื่อกระทุ้งกระแทก เพื่อไล่คนที่ไม่สมควรแก่การฟังออกก่อน แล้วค่อยอธิบายธรรมให้ส่วนที่เหลือฟัง

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

คุณเคยเข้าคอร์สฝึกการสื่อสารไหม

ถ้าได้อ่านคําสอนพระพุทธเจ้าอย่างละเอียด พระพุทธเจ้าสอนว่าต้องพูดยังไง ลําดับในการพูดเริ่มต้นตรงไหน เมื่อเขาตั้งคําถามจะต้องใช้ตัวเริ่มต้นตัวไหนในการตอบคําถาม พระพุทธเจ้าสอนวิธีการพูดวิธีการตอบคําถามตามลําดับพระองค์ เรื่องนี้อัดคลิปไว้แล้วด้วยว่าทํายังไง และพระองค์บอกว่าถ้าเธอทําตามลําดับนี้จะไม่มีสมณพราหมณ์เหล่าใดสามารถคัดง้างในคําตอบของเธอได้เลย


พระพุทธเจ้าไม่น่าสอนให้ด่า แต่ทําไมอาจารย์ถึงเลือกใช้การด่าในการสื่อสาร

พระพุทธเจ้าจะใช้คําว่าตําหนิ พระองค์บอกว่าเราจะชี้โทษเธอแล้วจะชี้โทษเธออีก เราจะขนาบเธอแล้วจะขนาบเธออีก เราจะไม่ทํากับเธอเหมือนช่างหม้อที่กําลังปั้นดินใหม่ๆ เราจะบีบเธอจะตีเธอจะชี้โทษเธอจนกว่าเธอจะทนอยู่ได้ ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจะทนอยู่กับการตําหนิติติงได้ 

ถ้ามัวแต่มานั่งพูดจาอ่อนหวานคําถามคือใครจะกลัว เมื่อไหร่จะละความเลวที่ตัวเองทําอยู่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ใช้คือตามยุคสมัย แต่ยังคงยึดคําสอนของพระองค์เป็นอกาลิโก อาจารย์เลือกใช้คําบางคําที่ใช้ได้ เช่น คำว่ามึงกู เพราะเป็นคำที่พวกเราใช้กับเพื่อน หรือบางครอบครัวพ่อแม่ก็ใช้กับลูกด้วยซ้ำ แต่ถ้าวันหนึ่งอาจารย์เห็นว่าหยาบอาจารย์จะหยุดใช้ 

แต่วาจาชั่วหยาบเป็นวาจาที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นตัวตั้ง ถ้าอาจารย์มีเจตนาจะทําลายเขา จะทิ่มแทงด้วยหอกปาก ทําร้ายให้เจ็บช้ำน้ําใจแบบนี้นั่นจึงเรียกว่าชั่วหยาบ แต่เจตนาของอาจารย์คือการด่าว่ากล่าวเพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงสันดาน เพราะอาจารย์มองเห็นโทษเห็นภัยจากการกระทําของเขาว่าจะนําเขาไปสู่นรก นําเขาไปสู่ความชิบหาย อาจารย์จึงด่าเขาเพื่อให้เขาแก้ไขสันดานของตัวเอง 


มีอินฟลูเอนเซอร์สายธรรมะคนไหนอีกบ้างที่คุณตาม

อินฟลูเดียวที่ตามคือสัมมาสัมพุทธเจ้า อินฟลูยิ่งใหญ่ที่สุด ติดเทรนด์ที่สุด ปัจจุบันใครก็พูดถึงพระพุทธเจ้า ยิ่งศรัทธาแล้วก็อยากศึกษาในหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามากขึ้น นับจากวันที่อาจารย์เริ่มออกมาเผยแพร่ธรรมะ คนก็ตื่นตัว ไม่ใช่ตื่นในตัวอาจารย์ แต่ตื่นในพระธรรมคําสอนจากพระพุทธเจ้า

 

สัมภาษณ์: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล & ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ภาพถ่าย: ณปรกร์ ชื่นตา & ภูมิสิริ ทองทรัพย์

ภาพปก: สมชาย พัวประเสริฐสุข

 

related