SHORT CUT
หนึ่งในข่าวใหญ่ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่าง ว.วชิรเมธี และ The iCON Group เมื่อมีคลิปพระเซเลปไปเทศน์ในบริษัทขายตรงดังกล่าว จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีของท่านและบทบาทของพระสงฆ์
แต่จะว่าไป.. ท่าน ว.ก็ไม่ใช่พระรูปเดียวที่ถูกเชิญไปเทศน์ ที่บริษัทดังกล่าว
และจะว่าไป.. ภาพที่ทุนใหญ่มักเข้าหาพระเซเลปเหล่านี้ก็มีให้เห็นจนชินตา
ว่าไป.. คนใกล้ตัวเราหลายคนก็เคยโพสต์ภาพคู่กับพระเซเลปรูปใดรูปหนึ่ง จริงไหม?
เมื่อนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก แต่เป็นเพียงฝีที่แตกออกถูกที่ถูกเวลา จุดคำถามว่าทำไมคนในสังคมไทยถึงมักเข้าหาพระเซเลปเหล่านี้ พวกท่านต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างถึงส่งให้ตัวเองโด่งดัง และปรากฎการณ์เช่นนี้นำไปสู่อะไร
เราได้มีโอกาสพูดคุย อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือลอกคราบพุทธแท้และนักวิจัยจากสถาบันสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ สุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้เขียนหนังสือพุทธราชาชาตินิยมและนักนักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญามาพูดคุยถึงปรากฎการณ์เหล่านี้
ว่าด้วย ‘พระเซเลป’ และลักษณะที่พึงมี
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ระบุว่าไทยมีพระสงฆ์ทั้งหมด 256,219 รูป และสามเณร 33,924 รูป แต่ถ้านับรวมผู้ที่เคยมีประสบการณ์บวชเรียน บวชทดแทนคุณ หรือบวชฤดูร้อน เชื่อว่ามีมากพอให้เดินชนกันได้ระหว่างข้ามทางม้าลาย
แต่ในจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ทำไมมีพระน้อยรูปนักที่ก้าวขึ้นมาเป็น ‘พระเซเลป’? อะไรคือเคล็ดลับสู่สถานะดังกล่าว?
ในมุมของอาสาจุดขายและช่องทางสื่อสารคือจุดเริ่มต้น แต่ในเชิงแนวคิดเขาเริ่มอธิบายว่าชนชั้นกลางและสูงในไทยมีจริตทางพุทธศาสนาพระที่คล้ายคลึงกันคือ มองหาความแท้ เทียม แก่น เปลือกในทางพุทธศาสนา
ผู้เขียนลอกคราบพุทธแท้ขยายความว่านับตั้งแต่การปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปคำสอนและจัดระบบองค์กรคณะสงฆ์ ศาสนาพุทธถูกส่งผ่านจากบนสู่ล่างจากรั้ววังสู่ท้องทุ่งผ่านระบบการศึกษา แบ่งพุทธแท้และพุทธเทียมออกจากกัน
บวกกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมและทุนนิยมที่เติบโตขึ้นในช่วงสงครามเย็น ทำให้สังคมไทยเริ่มเข้าหาวัดและพระโดยคิดถึงเรื่อง “กำไร – ขาดทุน”
“วัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมและทุนนิยม ทําให้เราทําบุญด้วยการคิดเรื่อง กําไร—ขาดทุน แล้วเมื่ออยากได้ของแท้อยากได้ของดี มันต้องทําบุญยังไงล่ะ ทำบุญกับพระองค์ไหนล่ะ” อาสากล่าว
อย่างไรก็ตาม อาสาสังเกตว่าความเข้าใจในพุทธศาสนาของคนไทยจำนวนมากเป็นแบบ “ฉาบฉวย” ไม่ได้แตกฉานเข้าใจอย่างแท้จริง จึงนำไปสู่ปรากฎการณ์ตามกันไป
“กลุ่มที่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับความไม่แท้ คือชาวพุทธชนชั้นกลาง แต่พอไม่รู้ว่าของแท้เป็นยังไง มันก็เลยเกิดปรากฎการณ์ตามกันไป เช่น ในหลวงเสด็จไปกราบพระองค์ไหนแปลว่าองค์นั้นต้องพระสุปฏฺิปันโน เป็นพระดี เป็นพระอรหันต์” อาสาตั้งข้อสังเกต
อาสาเพิ่มเติมว่า ลักษณะของพระที่ถูกจริตคนชนชั้นกลางและสูงต้องมีความปัญญาชน ไม่มีภาพไสยศาสตร์ เช่น พุทธทาสภิกขุ และต้องคู่ไปกับการเทศนาที่รวดเร็วย่อยง่าย นำมาปฏิบัติได้ทันทีตามความรวดเร็วของชีวิตคนเมือง
ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับสิ่งที่สุรพศเรียกว่า “ธรรมมะแบบไลฟ์โค๊ช” สุรพศขยายความว่าพระที่มีชื่อเสียงในไทยจะเชี่ยวชาญในการดึงองค์ความรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจิตวิทยา, การพัฒนาตนเอง หรือประวัติคนที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์เข้ากับธรรมะ เพื่อตอบปัญหาฆราวาสตั้งแต่เรื่องการเงิน, การงาน จนถึงความรัก
“แนวของ ว.วชิรเมธีก็จะมีเขียนหนังสือเรื่องธรรมะพารวย มีคําโปรยหน้าปกเลยว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารวย แต่ถามว่าเขาอ้างคำภีร์ (พระไตรปิฏก) ได้ไหม มันก็อ้างมาได้หมด เพราะในคำภีร์ศาสนาพุทธมันไม่ได้มีคําสอนเรื่องปล่อยวางอย่างเดียว” สุรพศกล่าว
อย่างไรก็ตาม สุรพศชี้ว่าความแตกต่างระหว่างพระเซเลปไทยกับพระระดับโลกคือ คุณค่าทางการเมืองที่สนับสนุน เขาชี้ว่าพระในระดับโลก เช่น ติช นัท ฮันห์ หรือ ดาไลลามะ จะยึดถือคุณค่าสากลอย่างสันติภาพหรือสิทธิมนุษยชน ขณะที่พระในไทยจะยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและเครือข่ายชนชั้นนำในไทย เช่น แนวคิด ‘เผด็จการโดยธรรม’ ของพุทธทาสภิกขุ หรือการที่ ว.วชิรเมธีออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร
เขาขยายความเหตุผลข้างต้นว่าเป็นเพราะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเชิงศาสนาคือ ผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา (พระมหากษัตริย์) มีอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและพระผู้ใหญ่ เลือกวัดอารามหลวง ดังนั้นเมื่อมีผู้มีอำนาจให้คุณและโทษ พระเซเลปจึงเป็นกลไกหนึ่งที่คอยค้ำจุนระบบอย่างที่เป็นอยู่
“ระบบใหญ่มันผลิตให้พระเซเลปอิงอวยชนชั้นปกครองและคนมีอํานาจ พระมีหน้าที่ต้องเทศนาสอนให้ประชาชนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างทุกวันนี้พระสวดทําวัตรเช้าเย็น นั่งสมาธิ แพร่เมตตาเสร็จแล้วก็จะถวายพระราชกุศล” สุรพศกล่าว
“พูดง่ายๆ ว่าพระผูกโยงกับอํานาจทางการเมืองที่เหนือพรรคการเมืองขึ้นไป ผูกโยงกับพรรคการเมือง และกลุ่มทุนนิยมคนรวยคนดัง” สุรพศสรุป
ทำไมคนไทย (บางกลุ่ม) อยากเข้าหา ‘พระเซเลป’
ไม่ใช่เพียงกรณีดิไอคอนที่มีภาพเชิญพระเซเลป เช่น ว.วชิรเมธี, หลวงปู่ศิลา และอีกหลายรูป ทุนใหญ่ในประเทศไทยทั้งหลาย ตลอดจนดาราและคนดังก็มักมีภาพและโครงการที่เกี่ยวโยงกับพระเหล่านี้เช่นกัน
และว่ากันตามตรง ไม่ใช่เพียงกลุ่มผู้มีอำนาจเหล่านั้น คนธรรมดาทั่วไปก็มักแสดงตัวเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ดัง ถ่ายรูปคู่กับพระเซเลปลงโซเชียลมีเดีย
“เข้าไปแล้วมันทําให้เขารู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย มันตอบคุณค่าบางอย่างในทางจิตวิญญาณ และอีกส่วนหนึ่งมันก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์” สุรพศกล่าว
สุรพศเสริมว่าคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะผู้มีอำนาจ รู้จักเลือกวัดและเลือกพระที่จะทำบุญ และเมื่อมีภาพออกมาก็เป็นบวกทั้งสองฝ่าย กล่าวคือฝ่ายหนึ่งได้ภาพลักษณ์ความเป็นคนดีมีศีลธรรม ขณะที่ฝ่ายพระก็มีแสงสปอร์ตไลท์ส่องลงมา
“การที่ใครจะเข้าวัดสักวัด เขาต้องรู้ว่าพระรูปนั้นมีคําสอนที่ดีหรือเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ถ้าเข้าไปจะมีแสงมีสปอร์ตไลท์ส่องลงมา อย่างหลวงปู่ศิลามากรุงเทพ ดาราไปกราบ ผู้มีอำนาจไปกราบ ภาพมันก็ออกมาดีทั้งสองฝ่าย พระดังเพิ่มขึ้น ดาราหรือผู้มีอำนาจก็ได้ภาพเป็นคนดีมีศีลธรรม” สุรพศกล่าว
"ดาราไปกราบ ผู้มีอำนาจไปกราบ ภาพมันก็ออกมาดีทั้งสองฝ่าย พระดังเพิ่มขึ้น ดาราหรือผู้มีอำนาจก็ได้ภาพเป็นคนดีมีศีลธรรม” สุรพศกล่าว
ทางด้านอาสาเรียกปรากฎการณ์ที่คนในสังคมพุ่งเข้าหาพระเซเลปว่าเป็น “การไขว่คว้าวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” กล่าวคือ การเข้าไปเกาะพระที่มีชื่อเสียงพระที่ใครก็ว่าดี เพราะมันทำให้คนนั้นดูอลังการ เป็นคนดี และองค์กรดูดีตามไปด้วย
อีกประการหนึ่งที่อาสาชี้คือ มันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่มีพระเป็นศูนย์กลาง เขากล่าวว่าการฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระเซเลป ไม่ต่างจากการพบปะในหลักสูตรรวมชนชั้นนำอื่น เช่น วปอ. หรือสถาบันพระปกเกล้า
“ผมคิดว่าเครือข่ายของพระก็คือคอนเนคชั่นอย่างหนึ่ง แค่มันเปลี่ยนเวทีมาเป็นวัด เปลี่ยนเป็นเวทีแห่งบุญและวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณที่เข้าไปแล้วมันดูดี ถามว่ามันมีผลต่อสังคมไหม มันก็เป็นอย่างที่เห็นถึงปัจจุบันนี่แหละ” อาสากล่าว
ไปวัด ทำบุญ พบพระ = ‘คนดี’
นอกจากที่พุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการค้ำจุนอำนาจของสังคมไทย สุรพศยังมองว่าศาสนาถูกใช้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ ‘คนดี’ กล่าวคือ ไม่ได้เข้าวัดหรือเข้าหาพระเพื่อนำธรรมะมาปฏิบัติเพื่อให้ตนเองดีงาม ซื่อสัตย์ สุจริต
“กลายเป็นว่าการเข้าหาธรรมะไม่ใช่เพื่อจะเอามาปฏิบัติให้ตัวเองดีงาม ซื่อสัตย์ สุจริต แต่มันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ไปแล้ว” สุรพศยกตัวอย่างดิไอคอนว่าพุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ และหว่านล้อมให้คนเชื่อในบริษัทมากกว่าเป็นไปเพื่อศึกษาธรรมะ
“เพราะฉะนั้น มันเลยทําให้เราตั้งคําถามถึงบทบาทของศาสนาในสังคมไทยว่า มันนําคนไปสู่การมีศีลธรรมจริงหรือไม่?” สุรพศทิ้งท้าย
ปรากฎการณ์ ‘ช้อปปิ้งครูบา’
ถึงแม้คนกลุ่มหนึ่งจะมุ่งเข้าหาพระเซเลป แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากข่าวฉาวนับไม่ถ้วนในวงการสงฆ์และจริตของชนชั้นกลางที่ถามหาความแท้ เทียม แก่น เปลือกอันหลากหลาย มีผลทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่อาสาเรียกว่า 'ช้อปปิ้งครูบา’
อาสานิยามว่ามันคือความหลากหลายของพุทศาสนา การแตกตัวเหมือนดอกไม้หลากสี ไม่ใช่เพียงแต่พระแต่รวมถึงฆราวาสที่เข้ามามีบทบาทสอนเรื่องธรรมะ ยกตัวอย่าง อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ซึ่งทำให้ตลาดพุทธศาสนาไทยมีความหลากหลายมากขี้น
“ในด้านดี ผมว่าเราได้เห็นความหลากหลายของพุทธศาสนามากขึ้น คุณสามารถแบ่งช่วงชีวิตออกเป็นห้องๆ คุณอาจจะได้ปฏิบัติธรรมแบบสงบที่วัดป่า แต่ก็สนใจพระเครื่องและของขลัง ผมว่ามันดีเพราะมันไม่ควรจะมีใครผูกขาดความถูกต้องอยู่คนเดียว แบบนั้นมันอันตรายเสียยิ่งกว่าการมีตัวเลือก” อาสากล่าว
อย่างไรก็ตาม อาสายังเห็นด้วยกับความคิดบางส่วนของสุรพศ โดยเฉพาะจุดยืนทางการเมืองของพระสงฆ์ ที่ยังคงไม่สามารถยืนตรงข้ามกับความคิดอนุรักษ์นิยมได้ มิฉะนั้น จะกลายเป็นเพียงกลุ่มกระแสรอง
“บางเรื่องยังเป็นพุทธศาสนากระแสหลักอยู่ ถ้ายืมคํา อ.สุรพศคือยังคงต้องเป็นพุทธราชาชาตินิยม พระที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์เรื่องการเมืองฝั่งตรงข้ามอำนาจเก่า มักเป็นได้แค่พระกระแสรอง” อาสาทิ้งท้าย
ภาพปก: สุรัสวดี มณีวงษ์