SHORT CUT
พระโพธิสัตว์ ผู้ลงมาสั่งสมบุญ ก่อนกลายเป็นพระพุทธเจ้า ในคติความเชื่อของไทยแฝงในแง่ของคุรธรรมการปกครองและพระมหากษัตริย์
ในคติความเชื่อของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มหายาน หรือนิกายอื่นๆ ล้วนเชื่อเรื่องเดียวกันเรื่องหนึ่งคือการที่มีผู้มีบุญลงมาจุติ เพื่อสั่งสมบุญบารมี บำเพ็ญเพียร ในหลายๆ ชาติจนกลายเป็นพระพุทธเจ้า
ตามหลักศาสนาเรียกว่าพระโพธิสัตว์ หรือที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยากและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า เป็นผู้มีพลังหรืออำนาจมุ่งสู่โพธิญาณ เป็นผู้บำเพ็ญความดีหรือที่เรียกว่าบารมีธรรมอย่างยิ่งยวดเพื่อการบรรลุถึงพระโพธิญาณ การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมีเพื่อตนและเป็นการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
การกระทำทุกอย่างนี้ดำเนินไปได้ด้วยความรักความปรารถนาในพระพุทธภาวะอันเป็นความหมายของพระโพธิสัตว์ ด้วยความรักในพระโพธิญาณพระโพธิสัตว์จึงสามารถกระทำได้ทุกอย่าง เบื้องต้นแต่สละได้ซึ่งสิ่งของภายนอกจนถึงชีวิตและสิ่งเสมอด้วยชีวิตคือบุตรและภรรยาของตน
ดังเช่นพระเวสสันดร อดีตชาติก่อนจะตรัสรู้ของพระสมณโคดม ที่ยอมสละลูกให้กับชูชก เพราะเป็นพระโพธิสัตว์ที่พร้อมจะเสียสละได้ทุกอย่าง
มหายาน เชื่อว่ามีพระโพธิสัตว์จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน กระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่งในจักรวาล
ในขณะที่เถรวาทไม่ได้เน้นเรื่องจำนวนพระโพธิสัตว์เท่ามหายาน มักจะกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ในบริบทของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ หรือพระอรหันต์ที่กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่
ในขณะที่บทบาทก็ต่างกันคือ มหายานเชื่อว่าพระโพธิสัตว์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ มีการสร้างคติความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ เช่น พระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี เป็นต้น
ส่วนเถรวาทเชื่อว่าพระโพธิสัตว์มีบทบาทเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญบารมี แต่ไม่ได้มีการสร้างคติความเชื่อที่ซับซ้อนเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ
นำไปสู่ความเชื่อเรื่องไปสู่การบรรลุธรรมที่ต่างกันคือ มหายาน เชื่อว่านิพพานเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการบรรลุโพธิญาณ และพระโพธิสัตว์จะยังคงอยู่ในโลกเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกต่อไป
ส่วนเถรวาทเชื่อว่านิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม และเมื่อบรรลุอรหันต์ผลแล้วจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปนิพพาน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยนิกายเถรวาทมีความเชื่อว่าประเภทของพระโพธิสัตว์มีด้วยกัน 3 ประการหลักๆ คือ
1.อุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีปัญญามากกว่าศรัทธา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีน้อยกว่าพระโพธิสัตว์ประเภทอื่น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระปัญญาธิกพุทธเจ้า
2.วิปจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีศรัทธามากกว่าปัญญา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ แต่น้อยกว่าเนยยโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า สัทธาธิกพุทธเจ้า
3.เนยยโพธิสัตว์ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีความเพียรมากกว่าปัญญา ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าทั้งสองจำพวกข้างต้น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระวิริยาธิกพุทธเจ้า
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตก่อนอาณาจักรสุโขทัย ทำให้ความเชื่อของศาสนาพุทธหยั่งรากลึกในดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน
คติความเชื่ออย่างหนึ่งคือเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์ที่มาสะสมบารมีก่อนจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าที่จะมาอุบัติขึ้นบนโลก
โดยแฝงอยู่ในหลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงพึงกระทำมากมายเช่น ทศพิธราชธรรม 10 ประกอบไปด้วย
1. ทาน หมายถึง พระราชทานพัสดุสิ่งของ หรือปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต แก่ผู้สมควรได้รับ ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ และราษฎรผู้ยากไร้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ แก่พระราชวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามสมควรแก่ฐานะ
2. ศีล หมายถึง การทรงศีล หรือการที่ทรงตั้งสังวรรักษาพระอาการ กาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษอันควรครหา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จออกทรงผนวช เพื่อทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย อุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย
3. บริจาค หมายถึง การพระองค์พระราชบริจาคไทยธรรม หรือสิ่งของที่พระราชทานให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่พระราช วงศานุวงศ์ และทูลข้าละอองธุลีพระบาท ตามฐานะที่ราชการฉลองพระเดชพระคุณ รวมทั้งพระราชทานแก่ประชาชนผู้ยากไร้ได้อาศัยเลี้ยงชีวิต
4. อาชวะ หมายถึง ความซื่อตรง ทรงมีพระราชอัฌชาสัย อันประกอบด้วยความซื่อตรง ดำรงในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ไม่ทรงคิดลวง ประทุษร้ายโดยอุบายผิดยุติธรรม
5. มัททวะ หมายถึง ความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัฌชาสัยอ่อนโยน ไม่ดื้อดึงถือพระองค์แม้มีผู้ตักเตือนในบางอย่าง ด้วยความมีเหตุผลก็จะทรงพิจารณาโดยถี่ถ้วน ถ้าถูกต้องดีชอบก็ทรงอนุโมทนา และปฏิบัติตาม ทรงสัมมาคารวะอ่อนน้อมแก่ท่านผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ไม่ทรงดูหมิ่น
6. ตบะ หมายถึง ความเพียร ทรงสมาทานกุศลวัตร ด้วยการเอาพระราชหฤทัยใส่ ในการปกครองพระราชอาณาเขต และประชาชนให้มีความสุขปราศจากภยันตราย ตลอดถึงการที่ทรงมีพระอุตสาหะอันแรงกล้าในกุศลสมาทาน ระวังบาปที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพื่อจะกำจัดบาปกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสูญ ไม่ตั้งอยู่ในพระสันดาน
7. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ทรงมีพระกริยาที่ไม่โกรธโดยวิสัย มิใช่เหตุที่ควรโกรธ แม้มีเหตุที่ให้ทรงพระพิโรธ แต่ทรงข่มเสียให้อันตรธานสงบระงับไป ด้วยทรงมีพระเมตตาอยู่เสมอ ไม่ทรงปรารถนาจะก่อภัย ก่อเวรแก่ผู้ใด
8. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียน ด้วยทรงมีพระราชอัฌชาสัยกอปรด้วยพระราชกรุณา ไม่ทรงปรารถนาจะก่อทุกข์แก่ผู้ใดแม้กระทั้งสัตว์ ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎร์ ให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่ควรกระทำ
9. ขันติ หมายถึง ความอดทน ทรงมีพระราชหฤทัยดำรงมั่นในขันติ มีความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน เช่น อดทนต่อทุกข์ อดทนต่อเวทนาอันเกิดขึ้นในพระกาย และทรงมีพระขันติเมตตากรุณาธิคุณ งดโทษผู้มีความประมาท กระทำผิดล่วงพระอาญา และควรจะลงราชทัณฑ์ แต่ก็ทรงระงับด้วยความอดทนไว้ได้
10. อวิโรธนะ หมายถึง ความเที่ยงธรรม ทรงรักษาความยุติธรรมไม่ให้แปรผันจากสิ่งที่ตรง และดำรงพระอาการไม่ยินดี ยินร้าย ต่ออำนาจคติทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่ง คือความไม่ประพฤติผิดในขัตติยราชประเพณี ทรงดำรงอยู่ในพระราชจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
สะท้อนให้เห็นถึงคติทางศาสนาที่ฝังรากลึกในประเทศไทย ทั้งในแง่คุณธรรม และคติความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ผู้สั่งสมบารมี หรือพระโพธิสัตว์ที่รอวันเป็นพระพุทธเจ้าอีกด้วย
อ้างอิง
ThaiCadet / BBC / DOL / ไทยศึกษา /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง