svasdssvasds

เปิดวัดพุทธแห่งใหม่ในเบอร์ลิน ศูนย์รวมศาสนาขนาดเล็กของเยอรมนี

เปิดวัดพุทธแห่งใหม่ในเบอร์ลิน ศูนย์รวมศาสนาขนาดเล็กของเยอรมนี

วัดพุทธจากชุมชน Fo Guang Shan แห่งใหม่ในเบอร์ลิน ศูนย์รวมพุทธศาสนิกชน ศาสนาขนาดเล็ก ที่กำลังเติบโตในเยอรมนี

SHORT CUT

  • เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนนับถือศาสนาน้อยที่สุดในโลก และมีเพียง 3-4% ที่นับถือศาสนายิว พุทธ หรือ ฮินดู
  • เดือน มิถุนายน 2024 มีความก้าวหน้าเล็ก ๆ ที่สำคัญของศาสนาพุทธ เพราะในกรุงเบอร์ลิน  วัดพุทธแห่งใหม่ของ ‘โฝ กวง ซาน (Fo Guang Shan)’ ได้ถือกำเนิคขึ้น หลังจากใช้เวลาสร้างมา 7 ปี
  • วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล แต่มาจากเงินทุนของ ผู้ปฏิบัติธรรมของ โฝ กวง ซาน ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาคารทางศาสนาที่ทันสมัยที่สุดในกรุงเบอร์ลิน

วัดพุทธจากชุมชน Fo Guang Shan แห่งใหม่ในเบอร์ลิน ศูนย์รวมพุทธศาสนิกชน ศาสนาขนาดเล็ก ที่กำลังเติบโตในเยอรมนี

ชาวเยอรมันมีความสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีสมาคมที่ขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น มาตั้งแต่ปี 1903 นำโดย ดร.คาร์ล ไซเดนสตือเกอร์ (Dr.Karl Seidenstuecker) ผู้บุกเบิกพุทธศาสนาในประเทศเยอรมนี

ทว่า การขับเคลื่อนศาสนาพุทธในดินแดนนี้ต้องถูกหยุดชะงักไป เมื่อพรรคนาซีเข้ามาบริหารประเทศ และจำกัด การดำเนินการของศาสนาต่างๆ อย่างเข้มงวด จนกระทั่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงมีการฟื้นฟู โบสถ์ วัด และวิหาร ต่างๆ เนื่องจาก ชาวเยอรมันต้องการที่พึงทางจิตใจหลังพ่ายแพ้สงคราม ศาสนาพุทธจึงกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง และมีพระสงฆ์จากเอเชียเดินทางมายังเยอรมนี ก็ยิ่งทำให้มีคนสนใจในพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน World Population Review เผยว่า เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนนับถือศาสนาน้อยที่สุดในโลก และมีเพียง 3-4% ที่นับถือศาสนายิว พุทธ หรือ ฮินดู

PHOTO Fo-Guang-Shan Berlin

เปิดวัดพุทธในเยอรมนี 

แต่ช่วงเดือน มิถุนายน 2024 มีความก้าวหน้าเล็ก ๆ ที่สำคัญของศาสนาพุทธ เพราะในกรุงเบอร์ลิน บริเวณถนน Ackerstrasse ที่ห่างจากทำเนียบของ ‘โอลัฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz)’ ประธานาธิบดีเยอรมนี เพียง 2 กิโลเมตร วัดพุทธแห่งใหม่ของ ‘โฝ กวง ซาน (Fo Guang Shan)’ ได้ถือกำเนิคขึ้น หลังจากใช้เวลาสร้างมา 7 ปี

ทั้งนี้ ‘โฝ กวง ซาน’ เป็นองค์กรพุทธศาสนานิกายมหายานระดับนานาชาติจากไต้หวัน ซึ่งวัดในสาขาที่เบอร์ลิน ได้ ‘เหมยเซียง ซือ (Miaoshiang Shih) ’ เป็นภิกษุณีผู้ดูแล ซึ่งเดิมเธอเป็นพุทธศาสนิกชน ในใต้หวัน แต่มาอยู่เบอร์ลินได้ 30 ปีแล้ว โดยใช้ห้องของโรงงานรถยนต์บริเวณถนน Ackerstrasse เป็นที่นั่งสมาธิร่วมกับพุทธศาสนิกชนอื่นๆ

PHOTO Fo-Guang-Shan Berlin

เหมยเซียง ซือ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล แต่มาจากเงินทุนของ ผู้ปฏิบัติธรรมของ โฝ กวง ซาน ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาคารทางศาสนาที่ทันสมัยที่สุดในกรุงเบอร์ลิน โดยมีทั้งห้องโถงหลักที่เอาไว้ใช้นั่งสมาธิ ต่อหน้าพระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ นอกจากนี้ยังมีห้องครัว ห้องพักแขก ห้องอาหาร ห้องจัดนิทรรศการศิลปะ ห้องจัดสัมมนา และห้องรำลึกถึงผู้เสียชีวิต

พุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมเป็นหลักการชี้นำของเรา ปรัชญาพุทธศาสนาสมัยใหม่ผสมผสานการปฏิบัติสมาธิแบบเซนทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย และคำสอนของเราก็ส่งเสริมให้ผู้คนเอาใจใส่ผู้อื่น ในวันอาทิตย์จึงมีบริการอาหารกลางวันและการดูแลด้านอื่นๆ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ” เหมยเซียง ซือ กล่าว

เปิดวัดพุทธแห่งใหม่ในเบอร์ลิน ศูนย์รวมศาสนาขนาดเล็กของเยอรมนี

ความหลากหลายในเบอร์ลิน ?

เนื่องจากคนหนุ่มสาวจากทั่วโลกเดินทางมาเบอร์ลินเพื่อศึกษาหรือทำงานมากขึ้น เมืองนี้จึงมีความหลากหลายวัฒนธรรมมากกว่าอดีต จากการประมาณการบนเว็บไซต์ของกรมวัฒนธรรมและความสามัคคีทางสังคมของเยอรมัน เผยว่า เบอร์ลิน มีประชากร 3.6 ล้านคน และมี ชุมชนทางศาสนา หรือความเชื่อต่างๆ มากกว่า 250 แห่งที่เปิดทำการ และทั้งหมดมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตในมหานครแห่งนี้

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน คริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกมีแผนจะเปิดอาสนวิหารเซนต์เฮดวิก (St.-Hedwigs-Kathedrale) เพื่อให้ชาวเบอร์ลินหันกลับสู่ศาสนามากขึ้น ส่วนภายในปี 2024 วัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดใน เยอรมนี ก็เตรียมเปิดให้บริการในเบอร์ลินเช่นกัน

สำหรับวัดพุทธ โฝ กวง ซาน ของเบอร์ลิน เหมยเซียง ซือ บอกว่า ความท้าทายคือการแปล คัมภีร์ศาสนาจากภาษาจีน มาเป็นภาษาเยอรมัน เพราะมีชาวเยอรมันสนใจมาเยี่ยมชมวัดแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแปลคัมภีร์ภาษาจีน เป็นภาษาอังกฤษก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และโชคดีที่เธอได้ชาวอินเดียมาช่วยทำงานให้

ที่มา : DW / Expatrio/ ธรรมะไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง     

 

 

related