SHORT CUT
คนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ หันมาให้ความสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ไม่ใช่เพราะโรงเรียนหรือการเข้าวัด แต่เพราะ NewJeansNim อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่แต่งตัวเลียนแบบพระ
ในช่วงหลายปีมานี้ คนเกาหลีใต้ระบุว่าตัวเองไม่นับถือศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจของ Korea Research พบว่ามีคนไม่มีศาสนามากถึง 51 % ของประชากรทั้งหมด และจากการสำรวจของ Gallup พบว่าชาวเกาหลีใต้ในช่วงวัย 20 ปีเพียง 22% เท่านั้นที่ระบุว่าตนนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเกาหลีใต้หนีห่างออกจากศาสนา เช่นอิทธิพลจากตะวันตก ที่ทำให้คนเชื่อในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่การศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ จึงมักไม่ค่อยเชื่อคำสอนที่โบร่ำโบราณของผู้นำศาสนา และปัญหาว่างงานที่มากขึ้นก็มีส่วน เนื่องจากคนหนุ่มสาวอาจพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ทางสังคม เช่น โบสถ์ เพื่อไม่ต้องเจอใคร หรือตอบคำถามใคร
นั่นจึงส่งผลให้ โบสถ์ วัด และอารามหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากแทบไม่มีคนไปทำพิธีทางศาสนา ปัญหานี้ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสังคมผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ ที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับศาสนาพุทธ ที่มักปลูกฝังให้เคารพดูแลผู้อาวุโส
แต่สถานการณ์ในเกาหลีใต้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะกระแสในโซเชียลมีเดียในปัจจุบันกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะ ‘ยูน ซัง-โฮ’ นักแสดงตลกและดีเจชาวเกาหลี ได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตด้วยการแต่งตัวเป็นพระ แล้วร้องเพลง โบกไม้โบกมือ กระโดดจนจีวรปลิว ไปกับเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ (EDM) ที่แฝงคำสอนพุทธศาสนาได้อย่างลงตัว ถูกอกถูกใจ คนรุ่นใหม่ชาว Millennials และ Gen Zเป็นอย่างมาก
ตัวตนด้านนี้ของเขา เป็นที่รู้จักในนาม ‘NewJeansNim’ ซึ่งเป็นชื่อผสมระหว่าง คำว่า Sunimซึ่งเป็นคำนำหน้านามของพระภิกษุชาวเกาหลี และเป็นชื่อในเชิงธรรมะที่พระภิกษุชั้นสูงตั้งให้เขา ทำให้ยูนเป็น ‘หลวงพี่NewJeans’ โดยเขาไม่ใช่พระจริงๆ แต่เป็นแค่การสวมบทบาทเท่านั้น
ซึ่งตัวตนในด้านนี้ของยูน จะทำหน้าที่ สร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมสมัยนิยมกับคำสอนของพุทธศาสนาที่แท้จริง ผ่านการแสดงคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ ความนิยมชมชอบของเขา เห็นได้ชัดจากการแสดงคอนเสิร์ตทุกครั้ง จะมีวัยรุ่นส่งเสียงเชียร์และร้องเพลงตาม เช่น "ทนทุกข์เพราะเงินเดือนไม่ขึ้น หรือ “หุ้นของฉันตก”
ยูนเชื่อว่า ตัวตนของเขาที่แหกกฎเดิมๆ ได้สร้างความประทับใจให้กับคนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้ เขาเผยว่าการที่ใครสักคนทำเพลงอิเล็กทรอนิกส์และทำให้ผู้คนหลงใหลในศาสนาพุทธที่ดูเคร่งขรึมนี้ ถือเป็นสิ่งที่ใหม่และน่าตื่นเต้นมาก
‘เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา คนส่วนใหญ่มักไปเยี่ยม วัดอันเงียบสงบบนภูเขา ฟังวัดอันเงียบสงบบนภูเขา และนั่งนิ่ง ๆ แต่สิ่งที่ผมทำอยู่มันตรงกันข้าม’ ยูนกล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีกระแสต่อต้านจากพระเกาหลีบางรูป ที่หาว่าเขาทำให้พระภิกษุดูตกต่ำ และเป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาแปดเปื้อน ผู้ที่ต่อต้านบางคนก็ส่งข้อความถามเขาว่า รู้จักคำสอนพื้นฐานของศาสนาพุทธบ้างไหม ? นอกจากนี้เขายังโดนห้ามไปแสดงคอนเสิร์ตในมาเลเซีย เพราะถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายศาสนาอีกด้วย
แต่ถึงจะโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักยูน ก็ยังยืนยันในสิ่งที่ทำ เพราะ ชาว Millennials กับ Gen Z ชื่นชอบสิ่งใหม่ๆ และเขาก็ภูมิใจที่เป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ยุคใหม่ที่ทำให้คนหันมาสนใจศาสนาพุทธมากขึ้น
ขณะที่ ‘หลวงพ่อนัมจอน’ เป็นพระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำนักงานใหญ่ของนิกายโชกเย นิกายที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธของเกาหลี ก็ออกมาสนับสนุนคอนเสิร์ต ‘NewJeansNim’ พร้อมบอกว่า เขา และชาวพุทธคนอื่นๆ เชื่อว่าจำเป็นต้องทำบางอย่างเพื่อหยุดยั้งความเสื่อมถอยของศาสนาพุทธ ตัวเลขสำมะโนประชากรแสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีใต้มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ และผู้ที่ยังนับถือศาสนาอยู่มักจะมีอายุมาก ซึ่งที่น่าห่วงคือเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ น้อยที่สุดในโลก
อีกหนึ่งการเผยแผ่ศาสนาที่ได้ผลคือ การใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่เรื่องดีๆ จากศาสนา พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งในเกาหลีใต้ กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของวัดแห่งหนึ่ง จนเป็นกระแสในปี 2023 พระรูปนี้มีนามว่า "พระอาจารย์บอมจอง" (Venerable Beomjeong) และใช้ยูสเซอร์ในอินสตาแกรมว่า "kkochsnim" ซึ่งมาจากฉายา "พระดอกไม้" (kkot seunim) และท่านได้อธิบายที่มาของฉายานี้ว่า
"ผู้บำเพ็ญตนควรเป็นดั่งดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมอันล้ำลึกแก่ผู้อื่น อาตมาจึงปรารถนาที่จะเป็นดอกไม้" ท่านกล่าว
โดยพระอาจารย์บอมจอง จะเน้นเผยแพร่คำสอนของพุทธศาสนา พร้อมกับโพสต์รูปภาพของตัวเองลงอินสตาแกรมเรื่อยๆ จนมีผู้ติดตามเติบโตอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20- 30 ปี ซึ่งนับเป็นการเผยแผ่ศาสนาแบบใหม่ที่เหมือนเอาวัดไปวางไว้บนหน้ามือถือของทุกคน แทนที่จะเชิญให้คนมาเรียนรู้ศาสนาที่วัดเหมือนในอดีต
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่กำลังมองศาสนาเปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้มองว่าศาสนาคือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แต่ศาสนาควรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงง่าย ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ และไม่ควรอยู่ภายใต้ค่านิยมเดิมๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง