SHORT CUT
ทำความรู้จัก ‘ร็อด โอเวนส์’ ลามะผิวดำที่เป็น ‘เควียร์’ เจ้าของฉายา “ราชินีชาวพุทธ” ผู้เผยแผ่ศาสนาแบบใหม่ ไม่ติดรูปแบบดั้งเดิม
เมื่อโลกเปลี่ยนไป วงการศาสนาก็เกิดเรื่องใหม่ๆ เข้ามา และปฏิเสธไม่ได้ว่า พุทธศาสนาในโลกยุคใหม่ไม่อาจตัดขาดออกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
เมื่อก่อนหากพูดถึงพระ หรือผู้ที่อุทิศตัวให้กับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนิกายไหน เรามักนึกถึงภาพคนใส่จีวร ไว้ผมน้อย ตัดขาดจากทางโลก แต่สมัยนี้มีเทรนด์การสอนศาสนารูปแบบใหม่มากมาย ที่ฉีกกรอบครูสอนศาสนาหรือพระนักบวชในแบบที่คุ้นเคย เพื่อให้คนรุ่นใหม่จับต้องศาสนาได้ง่ายขึ้น
ทีม SPRiNG ชวนไปรู้จักกับ “ลามะ ร็อด โอเวนส์ (Lama Rod Owens)” วัย 44 ปี เจ้าของสมญานาม “ราชินีชาวพุทธผิวดำตอนใต้ (Black Buddhist Southern Queen) ” ที่มีอิทธิพลต่อชาวพุทธในระดับนานาชาติ
โดยตัวของ ‘ร็อด โอเวนส์’ เป็นทั้งลามะและครูสอนโยคะ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 11 ปี ซึ่งได้รับความเคารพอย่างมากจากคนในชุมชนของเขา โดยเขานับถือพุทธแบบนิกายกาจู (Kagyu) ที่มาจากทิเบต ซึ่งถือว่าแปลกสำหรับคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อว่าศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อคนผิวดำมากที่สุด
นอกจากเป็นคนผิวดำแล้ว สิ่งที่ทำให้ ลามะ ร็อด โดดเด่นคือ เขาไม่สวมจีวรสีแดงเลือดนกและสีทองแบบทิเบต แต่มักสวมแค่เสื้อคลุมธรรมดา ทับเสื้อยืดปกติ และสวมสร้อยคอลูกประคำ เป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักมากที่สุดของพุทธศาสนาในแบบของเขา และเขายังประกาศตัวว่า เป็นเควียร์ อีกด้วย
โดยวิธีการสอนของ ลามะ ร็อด เป็นการใช้คำสอนในนิกายกาจู มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมป๊อปและประสบการณ์ชีวิตของเขาในฐานะชายผิวดำที่เป็นเควียร์ ปัจจุบันเขาเป็นกระบอกเสียงที่มีอิทธิพลในหมู่ครูสอนพุทธศาสนารุ่นใหม่ จากผลงานการบรรยาย และการเขียนหนังสือที่เน้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อัตลักษณ์ และสุขภาพจิตที่ดี
ลามะ ร็อด เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ และผู้นำทางจิตวิญญาณ เขาไม่ขอสวมใส่จีวร เพราะไม่ใช่วิถีของเขา เพราะพุทธศาสนาคือการเป็นตัวของตัวเอง
เขายังกล่าวอีกว่า นักบุญเป็นต้องคนธรรมดาและเป็นมนุษย์ พวกเขาควรทำสิ่งต่างๆ ที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ และเขาเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นนักบุญได้
สำหรับชีวิตวัยเด็กของ โอเวนส์ นั้น เติบโตมาในครอบครัวชาวคริสต์ที่เข้มงวด เขาเข้าศึกษาที่โรงเรียน Berry College ในรัฐจอร์เจีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสเตียนที่ไม่สังกัดนิกาย แต่มันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับศาสนาคริสต์ลึกซึ้งขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเขากลับหยุดไปโบสถ์ และรู้สึกผิดหวัง กับมุมมองทางศาสนาแบบอนุรักษนิยมเกี่ยวกับเรื่องเพศ
เขารู้สึกว่าวิธีการเข้าถึงพระเจ้าสมัยนั้นเข้มงวดเกินไป และถึงกับเต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาท เกี่ยวกับความเป็นเควียร์ของเขา นั่นจึงทำให้เขาขอตัดขาดจากพระเจ้า
หลังจากนั้น จุดมุ่งหมายใหม่ของโอเวนส์คือ การทำงานเพื่อมูลนิธิ โดยเขาเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการถูกทำร้ายทางเพศ และเป็นอาสาในโครงการศึกษาเรื่องเอชไอวี เอดส์ การไร้บ้าน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการใช้สารเสพติดแทน
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย โอเวนส์ย้ายไปบอสตันและเข้าร่วม Haley House องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินกิจการโรงทานและโครงการบ้านจัดสรรราคาไม่แพง ที่นั่นทำให้เขาได้พบกับ ผู้คนจากศาสนาต่างๆ ตั้งแต่ ฮินดู คริสเตียน มุสลิม พุทธ ไปจนถึงคนที่ไม่มีศาสนา ซึ่งเพื่อนชาวพุทธคนหนึ่งมอบหนังสือ “ถ้ำในหิมะ (Cave in the Snow)” เขียนโดย “แม่ชี เจตซุนมา เทนซิน พัลโม (Jetsunma Tenzin Palmo)” ที่เล่าถึงประสบการณ์จริงของผู้เขียนซึ่งใช้เวลาหลายปีคนเดียวในถ้ำบนเทือกเขาหิมาลัยเพื่อปฏิบัติตามเส้นทางที่เข้มงวดของโยคีผู้อุทิศตน และต่อสู้พื่อให้โอกาสผู้หญิงได้เข้าถึงพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่มักสวงนไว้ให้นักบวชผู้ชายเท่านั้น
เมื่อศึกษาเรื่องเรื่องราวของพระพุทธศาสนา โอเวนส์ก็ตระหนักว่า คนผิวดำก็ทำอะไรแบบนี้ได้ และมันก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคำสอนในศาสนาคริสต์แต่อย่างใด
หลังจากนั้น โอเวนส์ก็กลับมาหมกมุ่นกับศาสนาอีกครั้ง และในที่สุดก็หันกลับมาหาพระเจ้า แต่ไม่ใช่พระเจ้าองค์เดิม เพราะเขาเชื่อว่า พระเจ้าไม่ได้หมายถึงคนแก่ที่นั่งอยู่บนก้อนเมฆอีกแล้ว แต่พระเจ้าเป็นพื้นที่ ความว่างเปล่า พลังงาน และเป็นประสบการณ์ ซึ่งเชื้อเชิญให้มนุษย์เข้าไปสำรวจผ่านจิตวิญญาณภายใน เพราะพระเจ้าที่แท้จริงคือ “ความรัก” และศึกษาพระพุทธศาสนาต่อ จนได้รับการรับรองให้เป็น "ลามะ" จากโรงเรียนสอนศาสนานิกายกาจูในทิเบต พร้อมด้วยปริญญาโทสาขาเทววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกด้วย
ปัจจุบัน “ลามะ ร็อด” อาศัยอยู่ในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งตารางงานของเขาในแต่ละวัน ยุ่งมาก เพราะต้องสอนศาสนาในพอดแคสต์และรายการในโซเชียลมีเดียทุกวัน นอกจากนี้เขายังจัดเวิร์คช็อปพูดคุยกับนักศึกษา เป็นผู้นำการทำสมาธิ สอนโยคะ รวมถึงไปปรากฏตัวในคอร์สการฝึกจิตวิญญาณในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเขียนหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาจิตใจออกมาขายอยู่เรื่อยๆ
นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของ Bhumisparsha ซึ่งเป็นชุมชนทางจิตวิญญาณที่มีภารกิจในการทำให้คำสอนของศาสนาพุทธเข้าถึงชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเรื่องเพศกับศาสนาอีกด้วย
ที่มา : AP NEWS / Lama Rod Owens
ข่าวที่เกี่ยวข้อง