SHORT CUT
ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง คดี สว.ยื่นสอบ”ภูมิธรรม-ทวี” รับคดีฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษ กล่าวหา “ขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ-แทรกแซง กกต.” ศาลไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 26 มี.ค. 68 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ประธานวุฒิสภาขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2568)
.
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 92 คน เข้าชื่อ เสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษ
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอเรื่องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการการเลือกตั้ง โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม
.
จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความชื่อสัตย์สจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (4) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา
และให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พศ. 2561 มาตรา 54
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ยังไม่ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในชั้นนี้ยังไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่