SHORT CUT
เปิด 10 อันดับ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก
จากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.4 เขย่าไต้หวัน เตือนสึนามึในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เกิดอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งระดับ 5.3-5.7 ในช่วงเช้าของวันนี้ อาคารหลายแห่งพังถล่ม นักธรณีวิทยาระบุรุนแรงสุดในรอบ 25 ปี
นักธรณีวิทยา ระบุถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในไต้หวันในรอบ 25 ปี สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าคลื่นสึนามิสูง 3 เมตรจะซัดถึงพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ทำให้หน่วยงานแผ่นดินไหววิทยาของฟิลิปปินส์ ได้ออกประกาศเตือนภัยสึนามิ
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้มากมาย ทั้งจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ที่รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมไปถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางธรณีวิทยา ที่แสดงว่าในอดีตนั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาก่อน และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญต่างๆ ที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ พบว่ามีหลากหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของ ourworldindata ระบุว่าตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา มี 2 เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตติดอันดับ 10 แผ่นดินไหวรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก คือ แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะสุมาตราในปี 2004 และแผ่นดินไหวที่ปอร์โตแปงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ในปี 2010
แต่เหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น เกิดขึ้นที่มณฑลส่านซี ประเทศจีน ในปี 1556 คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 830,000 คน มากกว่า 2 เท่าของผู้เสียชีวิตอันดับ 2 คือแผ่นดินไหวที่ปอร์โตแปงซ์ในปี 2010 ที่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 316,000 คน
1. แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่มณฑลส่านซี ประเทศจีน ปี 1556
แผ่นดินไหวที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นที่มณฑลส่านซีของจีนเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1556 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เจียจิง" หรือ "Jiajing Great Earthquake" ตามชื่อจักรพรรดิที่ทรงครองราชย์ พายุได้ทำให้ขนาดพื้นที่ 621 ตารางไมล์ (1,000 ตารางกิโลเมตร) ของประเทศกลายเป็นซากปรักหักพัง
จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของจีน (Science Museums of China) มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ประมาณ 830,000 คน ตัวเลขขนาดความรุนแรงที่แน่นอนของแผ่นดินไหวครั้งนั้นสูญหายไปในประวัติศาสตร์ แต่นักธรณีฟิสิกส์ในปัจจุบันประเมินแรงสั่นสะเทือนไว้ที่ประมาณ 8 ริกเตอร์
2. แผ่นดินไหวขนาด 7 ที่เมืองปอร์โตแปงซ์ ประเทศเฮติ ปี 2010
แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.0 ถล่มเฮติทางตะวันตกเฉียงเหนือของปอร์โตแปรงซ์เมื่อวันที่ 12 มกราคมปี 2010 ถือเป็น 1 ใน 3 แผ่นดินไหวที่อันตรายที่สุดตลอดกาล เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในซีกโลกตะวันตกและมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เฮติเสี่ยงต่อความเสียหายและการสูญเสียชีวิตอย่างมาก ธรณพิโรธครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 3 ล้านคน
รัฐบาลเฮติประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตราว 230,000 คน แต่ในเดือนมกราคมปี 2011 ตัวเลขอย่างเป็นทางการได้รับการแก้ไขเป็น 316,000 คน
3. แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่พื้นที่อันทักยา ประเทศตุรกี ปี 115
คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 260,000 ราย สร้างความเสียหายให้เมืองโบราณ จนเหลือเพียงซากปรักหักพังมาจนทุกวันนี้ และเกิดสึนามิบริเวณชายฝั่งเลบานอนอีกด้วย
4. แผ่นดินไหวขนาด 7 ที่พื้นที่อันทักยา ประเทศตุรกีในปัจจุบัน ปี 525
คร่าชีวิตผู้คนไป 250,000 คน ในยุคจักรวรรดิไบแซนไทน์ บ้านเมืองถูกทำลายราบ
5. แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่มณฑลถังชาน ประเทศจีน ปี 1976
27 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่มณฑลถังชาน (Tangshan) ของจีน ผลจากแรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายขยายไปถึงกรุงปักกิ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 242,769 คน
6. แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในพื้นที่กันจา หรือประเทศอาเซอร์ไบจานและจอร์เจีย ปี 1139
คร่าชีวิตผู้คนไป 230,000 คน ประชาชนถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังจำนวนมาก สิ่งก่อสร้างในพื้นที่ภูเขาถูกทำลายหมดสิ้น
7. แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2004
26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากจังหวัดอาเจะห์ ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ออกไปเพียง 60 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้จังหวัดอาเจะห์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10,000 คน จากอาคารบ้านเรือนที่พังทลายจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว
นอกจากนี้แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ดังกล่าว ยังทำให้เกิดสึนามิซัดเข้าถล่มตามชายฝั่งของประเทศต่างๆ โดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งจากแผ่นดินไหวและสึนามิทั้งสิ้นกว่า 227,900 คน นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900
8. แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ที่พื้นที่ไตซาน ประเทศอิหร่าน ปี 856
วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 856 เกิดแผ่นดินไหวไม่ทราบขนาดที่เมืองโบราณไตซาน (Damghan) ประเทศอิหร่าน ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงในปัจจุบันของอิหร่านประมาณ 322 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ของเมืองถูกทำลายเช่นเดียวกับพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวกันว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200,000 คน
9. แผ่นดินไหวขนาด 6 ที่พื้นที่ดวิน ประเทศอาร์เมเนีย ปี 893
คร่าชีวิตผู้คนไป 150,000 คน อาคารเกือบทั้งเมืองพังทลาย เหลืออาคารเพียง 100 หลังเท่านั้น
10. แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปี 1923
1 กันยายน ค.ศ. 1923 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ในเขตคันโต ประเทศญี่ปุ่น แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้เกิดการทำลายล้างอย่างรุนแรงในพื้นที่โตเกียว-โยโกฮาม่า ทั้งจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเอง รวมถึงภัยพิบัติไฟไหม้ที่เกิดตามมา ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยประมาณ 381,000 หลังคาเรือน จากบ้านทั้งหมดกว่า 694,000 หลัง ถูกไฟไหม้ทั้งหมด และยังมีที่ถูกทำลายบางส่วนอีก โดยประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 142,800 ราย
ทั้งนี้เวลาเกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟปะทุ ทำความรู้จักกับจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวโลกและเป็นบ้านของภูเขาไฟกว่า 500 แห่ง หรือ “วงแหวนแห่งไฟ”
วงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire คือ กลุ่มภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ กระจายอยู่โดยรอบของมหาสมุทรแปซิฟิก ลากยาวตั้งแต่ด้านใต้ของอเมริกาใต้ ไล่ไปตามแนวชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ ผ่านช่องแคบแบริ่ง ลงผ่านประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซียและสิ้นสุดแถวฟิจิและนิวซีแลนด์
พื้นที่จะทอดยาวตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเกือบ 40,000 กิโลเมตร มีภูเขาไฟมากกว่า 450 ลูก ครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรและประเทศในทวีปต่าง ๆ รวมกันถึง 31 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศโบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา
ด้วยลักษณะที่เป็นวง ๆ แบบนี้เลยถูกเรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ แม้ลักษณะจะเหมือนกับเกือกม้าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม วงแหวนแห่งไฟ ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวโลก และคาดเดาไม่ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รุนแรงแค่นั้น เรียกได้ว่าเป็นกล่องสุ่มแผ่นดินไหวสำหรับประเทศที่อยู่ในเขตของวงแหวนแห่งไฟ
หลักการพื้นฐานความเป็นไปของโลก เมื่อมีภูเขาไฟก็ต้องมีแผ่นดินไหว 2 อย่างนี้มักอยู่คู่กัน แต่อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีภูเขาไฟก็ย่อมได้ และแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
ดังนั้น การเกิดขึ้นของวงแหวนแห่งไฟ เกิดจากการเกยกันของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นที่เลื่อนมาชนกันและเกิดการมุดตัวโดยแผ่นที่หนักกว่ามุดลงด้านล่างของแผ่นเปลือกโลกที่เบากว่า ซึ่งจุดที่เกิดการเกยกันของแผ่นเปลือกในวงแหวนแห่งไฟ คือจุดที่ลึกที่สุดของโลกใต้มหาสมุทร ที่เรียกกันว่า ร่องลึกมาเรียนา ที่มีความลึกอยู่ 10,984 เมตร หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลลงไป 11 กิโลเมตร
แผ่นเปลือกโลกของเรามีทั้งหมด 12 แผ่นใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นมหาสมุทรและแผ่นทวีป แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ไม่อยู่นิ่ง แต่มันเคลื่อนตัวตลอดเวลาทีละนิดๆโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกสามารถเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเคลื่อนห่างกัน เคลื่อนชนกัน หรือเคลื่อนมุดกันเอง เหมือนกับแผ่นน้ำแข็งที่ล่องลอยไปมา
ที่มา : Ourworldindata , mitrearth