"สว."เปิดเกม! ยกคณะตั้งโต๊ะ โต้ปม"ดีเอสไอ" รับเรื่องหลัง กลุ่มผู้สมัคร สว.สำรอง ขอให้สอบสวน กรณีเชื่อว่าการได้มาซึ่ง สว. ปี 2567 มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิเศษ
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 ที่ผ่านมา พลตำรวจโท คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายพิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร และคณะ ในฐานะ สว.สำรอง และผู้สมัคร สว. พร้อมด้วยนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น ตัวแทนกลุ่ม “คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตย บริสุทธิ์” และ กลุ่มตัวแทนผู้สมัคร สว. รวมตัวกันมากกว่า 40 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขอให้ ดีเอสไอ เข้ามาร่วมสอบสวนกรณีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 มิชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษ
ล่าสุด (21 ก.พ. 2568) กลุ่ม สว.ยกคณะตั้งโต๊ะแถลง โต้ปม "ดีเอสไอ" รับเรื่องสอบ เลือกสว.ปี 67 เป็นคดีพิเศษ
นำโดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา (สว.) พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว.เป็นต้น
โดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา (สว.) เผยว่า ดีเอสไอเตรียมบรรจุเรื่องตามคำร้องของ สว.กลุ่มสำรองที่ต้องการให้สอบสวนการทุจริตเลือก สว. ตนมองว่าประเด็นดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะการตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้รับเรื่องไว้ตรวจสอบแล้ว
"สว.เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขและระเบียบที่ กกต.กำหนด และทำหน้าที่ของ สว.อย่างตรงไปตรงมา ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ซึ่งการตรวจสอบของ กกต.นั้นเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กกต.ส่วนหน่วยงานที่ไม่อำนาจหน้าที่ ที่ออกมาให้ข่าวนั้น ทำให้ สว.ต้องมาปกป้องสิทธิศักดิ์ศรี" ประธานวุฒิสภา กล่าว
ด้านพล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. กล่าวว่า “สว.ทุกคนมาโดยสุจริต โปร่งใส มาในการแข่งขันที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนข้อกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการให้ข่าวที่ผิดไป ขณะนี้ได้เตรียมรวบรวมข้อมมูล และข้อกฏหมาย เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้กับ สว.ทั้งหมด”
พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว. กล่าวว่า ย้ำว่าสว.ปัจจุบันมาโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาโดยสมาคมหรืออั้งยี่ ซึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนั้นเกินเลยจากข้อเท็จจริง การกล่าวหาว่าองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ การใส่ความ
“มันผู้ใดที่ใส่ความ สว. ทำให้เกิดดวามเสียหาย บั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการนิติบัญญัติ คนที่ทำก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ส่วนผู้ร้อง ที่เคยเข้ากระบวนการคัดเลือกเป็น สว. แต่เข้ามาไม่ได้ กลับมากล่าวหาว่าเป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องมองย้อนกลับไปว่า ท่านทำตามกติกาแต่ทำไม่ได้ ก็มากล่าวหาว่าไม่ชอบกฎหมาย ดังนั้น ต้องรับผิดชอบ” พ.ต.อ.กอบ กล่าว
พ.ต.อ.กอบ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวิธีการฉ้อฉลเพื่อทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบัน แก้ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญคือ ให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง แต่กลับมีกระบวนการนี้กลับมาเพื่อทำให้เกิดวิกฤต ทำให้คนกระด้างกระเดื่อง ดังนั้น สว.ต้องอยู่เพื่อให้การดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นไปอย่างผาสุข สงบเรียบร้อย ใครบังอาจที่บิดเบือน ฉ่อฉลต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่ามองว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ พ.ต.อ.กอบ กล่าวว่า การใช้ข้อกฎหมายอ้างอิงเพื่อดำเนินคดีกับ สว. นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คือ กลุ่มคนที่ทำ มี รมว.ยุติธรรมด้วย ดังนั้น มองได้ว่าเป็นเรื่องของเกมการเมือง โดยเฉพาะการกล่าวอ้างข้อกฎหมายว่ามาโดยไม่ชอบ คือ การใช้กฎหมายเพื่อสร้างปัญหาต่อการปกครองบ้านเมือง
“มีกลุ่มคนไม่สำนึก นำพา ไม่เคารพกติกา กฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองเพื่อสร้างให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมายยอาญามาตรา 116 อ้างว่ากลุ่มที่สมัคร สว.ที่รับรองจาก กกต. แล้ว ว่าไปยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง หากมองโดยหลักของกฎหมายที่ถูกต้อง คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่ สว. แต่คนที่ทำคือ คนที่กล่าวหานำเรื่องไปสู่ดีเอสไอ คือ คนที่ขัดขวางความมั่นคง บั่นทอนระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” พ.ต.อ.กอบ กล่าว
พ.ต.อ.กอบ กล่าวด้วยว่า กรณีที่ดีเอสไอหรือรมว.ยุติธรรมกล่าวอ้างนั้น ถือเป็นการบิดเบือน ฉ้อฉลอำนาจตามรัฐธรรรนูญ เรื่องดังกล่าวแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นใมนบ้านเมือง เพราะจะเกิดปัญหารอบด้าน เช่น กรณีปัญหาที่รัฐมนตรีจะแก้ไขมีจำนวนมาก แต่กลับทำกระบวนการที่บั่นทอนฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐสภาเป็นองค์กรใช้กฎหมายนิติบัญญัติแทนประชาชน จะมายุแยง ยั่วยุ ปลุกปั่นประชาชนให้ปั่นป่วนและกล่าวหาฝ่ายนิติบัญญัติ แสดงว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีการปกครองโดยใช้กฎหมาย เมื่อไม่มีการปกครองโดยกฎหมายจะใช้หลักอะไรในการบริหารประเทศ
ส่วน พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวโยงอยู่กับกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น ความพยายามบางอย่างตนมองว่าไม่ค่อยปกติ ฉะนั้น จากนี้ไปสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง จะใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันในการกล่าวโทษดำเนินคดีในประเด็นต่างๆ และจะลงชื่อกันอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ต่อไป