SHORT CUT
ฮั้วเลือก สว. 2567 เปิดหลักฐาน 'ดีเอสไอ' เคยแจ้งขอทำคดีกับ 'แสวง' เลขาฯ กกต. แต่ไม่ยอมรายงาน กกต.ชุดใหญ่ 7 คนให้พิจารณา เมื่อเวลาล่วงเลยมา นับจากเดือน ก.ย. ปี 67 ถึงเดือน ก.พ. ปี 68 รวม 5 เดือน ดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานเรียบร้อย และต้องการจะรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังถาม กกต.ไปอีกที
เป็นที่จับตาของสังคม 25 ก.พ. 2568 จะมีการประชุม คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดี "ฮั้วเลือก สว." เป็นคดีพิเศษหรือไม่ หลังมีผู้สมัคร สว.-ผู้เสียหาย ยื่นให้ DSI ตรวจสอบขบวนการจัดตั้งระบบเลือก สว.ที่ไม่โปร่งใส จากนั้น DSI ได้สอบสวน ทั้งการสอบพยานบุคคล-ตรวจหลักฐานดิจิทัล-เอกสารหลักฐาน แต่การประชุมนัดดังกล่าว น่าจะมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า อำนาจการสืบสวนสอบสวนคดีนี้เป็นของหน่วยงานใด กกต. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กันแน่
ฝ่ายดีเอสไอ มองว่า คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ พ.ร.ป.กกต. มาตรา 49 ก็จริง แต่เป็นเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนความผิดอาญาอื่นๆ เช่น ความผิดที่อยู่ในข่ายเป็น “คดีพิเศษ” อย่างความผิดฐานฟอกเงิน ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ
แต่ฝ่าย “สว.สีน้ำเงิน” ซึ่งออกมาแถลงตอบโต้เรื่องนี้ มองว่า คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญารูปแบบใด ล้วนเป็นอำนาจของ กกต. ตามกฎหมาย กกต.มาตรา 49 ยกเว้น กกต.จะมอบหมายให้หน่วยงานอื่นทำ
ทำให้มุมมองทางกฎหมายที่แตกออกเป็นสองฝ่ายนี้ คาดว่าจะมีการโต้เถียงและแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ตอนนี้ทางฝั่ง กกต. และ สว.ที่สนับสนุนให้มี กกต.ทำคดีนี้เอง อ้างหนังสือตอบของ กกต. ที่ส่งถึงอธิบดีดีเอสไอ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยเป็นหนังสือตอบอธิบดีดีเอสไอ ที่สอบถามว่า กกต.จะรับเรื่อง “โพยฮั้ว สว.” ไว้พิจารณาเองหรือไม่
โดยเลขาธิการ กกต. นายแสวง บุญมี ตอบหนังสือนี้ 'เหมือนไม่ตอบ' ว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาเอง หรือส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการ โดยให้เหตุผลเอาไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า
เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องให้ กกต.ชุดใหญ่พิจารณา ตามกฎหมาย กกต.มาตรา 49
นี่คือคำตอบของคุณแสวง บุญมี ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่เห็นมีสาระอะไร แต่คำตอบนี้จะส่งผลให้ การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการต้องถกเถียงกันอย่างหนัก เนื่องจาก กกต.ยังไม่แสดงท่าที ตามกฎหมาย กกต.มาตรา 49 ที่ให้อำนาจไว้ ว่าจะเอาอย่างไรแน่
แต่ล่าสุดทีมข่าวเนชั่นได้รับเอกสารอีก 1 ฉบับ ซึ่งพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอในขณะนั้น (ปัจจุบันคืออธิบดี) ส่งถึงเลขาธิการ กกต.คุณแสวง บุญมี วันที่ออกหนังสือ ลงวันที่ 25 กันยายน 2567 คือ ปีที่แล้ว หลังการเลือก สว. และประกาศรับรอง สว.ได้ไม่กี่เดือน
โดยในตอนท้ายของหนังสือ ได้แจ้งเลขาธิการ กกต.ว่า “ดีเอสไอขอรับเรื่องไว้สืบสวนสอบสวนเอง และแจ้งให้ กกต.ทราบ ตามกฎหมาย กกต.มาตรา 49”
หลักฐานที่ยืนยันว่า เลขาธิการ กกต.ทราบเรื่องแล้ว แต่ไม่ยอมรายงาน กกต.ชุดใหญ่ 7 คนให้พิจารณา เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมา นับจากเดือนกันยายน ปี 67 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 68 รวม 5 เดือน ดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานเรียบร้อย และต้องการจะรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังถาม กกต.ไปอีกที
แต่เลขาธิการ กกต. กลับตอบหนังสือ ตามเอกสารฉบับแรกที่เรานำมาเปิดว่า “ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ดีเอสไอ รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ดีเอสไอแจ้งเลขาธิการ กกต. ตั้งแต่ 5 เดือนก่อนแล้ว นี่คือปัญหาที่ทำให้คดี “โพยฮั้ว สว.” วนอยู่ในอ่าง ไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่สอบสวนกันมาเกือบ 1 ปี
นอกจากนั้น แหล่งข่าวใน กกต. ยังให้ข้อมูลกับทีมข่าวเนชั่น ระบุว่า คดีอาญาที่แตกลูกออกจากคดีเลือกตั้งทุกคดี กกต.ไม่เคยทำคดีเองเลย ให้ตรวจสอบย้อนกลับไปดูได้ กกต.จะทำเฉพาะคดีเลือกตั้งที่ส่งศาลฎีกา กรณีคดีเลือกตั้ง สส. และ สว. กับศาลอุทธรณ์ กรณีเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น
ส่วนคดีอาญาปกติ จะมอบให้ตำรวจทำทั้งหมด ยกตัวอย่างคดี คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อ “บริษัท วี-ลัค มีเดีย” ซึ่งมีโทษทางอาญา กกต.ก็มอบหมายให้ตำรวจทำคดี และในที่สุดอัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง