svasdssvasds

สภาล่ม! ภูมิใจไทย-สว. ไม่ร่วมประชุมแก้รัฐธรรมนูญ หวั่นขัดคำวินิจฉัยศาลฯ

สภาล่ม! ภูมิใจไทย-สว. ไม่ร่วมประชุมแก้รัฐธรรมนูญ หวั่นขัดคำวินิจฉัยศาลฯ

เปิดก่อนได้เปรียบ! "ภูมิใจไทย" วอล์กเอ๊าต์ยกพรรค ไม่ร่วมวาระ "แก้รัฐธรรมนูญ 2560" หวั่นขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำเห็นด้วยกับการแก้ไขแต่ต้องชอบธรรม

SHORT CUT

  • พรรคภูมิใจไทย ขอไม่ร่วมวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา บอกเหตุผลว่า เนื่องจากการแก้ไขกำลังนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
  • สว.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาส่งเรื่องนี้ให้ศาลฯ พิจารณาก่อน ทำให้ถกเถียงกันนานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง
  • พรรคเพื่อไทย ไม่ได้แสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วย ทำให้องค์ประชุมเหลือเพียง 204 คน สภาล่ม "สุทิน" อ้างเจตนาไม่ให้ญัตติตกไป

เปิดก่อนได้เปรียบ! "ภูมิใจไทย" วอล์กเอ๊าต์ยกพรรค ไม่ร่วมวาระ "แก้รัฐธรรมนูญ 2560" หวั่นขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำเห็นด้วยกับการแก้ไขแต่ต้องชอบธรรม

วันที่ 13 ก.พ. 68 ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) จำนวน 2 ร่างของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนและนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

 

ในช่วงแรกของการประชุมขณะที่ประธานกำลังเข้าสู่วาระ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า ในฐานะตัวแทนในนามของตัวแทนสมาชิกรัฐสภา ในสังกัดพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด มีความคิดเห็นว่าวาระที่จะถูกพิจารณาหลังจากนี้นั้น เข้าขั้นที่จะผิดและขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมพิจารณา ก่อนที่ สส.พรรคภูมิใจไทยเดินออกจากที่ประชุมทันที

จากนั้น สส.พรรคภูมิใจไทย ได้ลงมาแถลงร่วมกันถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

โดย น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า จุดยืนของพรรคไม่ขอพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอทำความเข้าใจถึงกระแสข่าวที่พยายามดึงพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอยืนยันว่า

 

"พรรคเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องชอบธรรม และไม่สร้างปัญหาในอนาคต ซึ่งในวันนี้ที่จะมีการพิจารณาแก้ไข ม. 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นได้ชัดว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนก่อน"

 

 

ต่อมา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน เพราะญัตตินี้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 อีกทั้งมองว่าประธานรัฐสภาไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระได้ จึงเกิดปัญหาว่ารัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 4/2564 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปกป้อง หากรัฐสภาจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

 

ที่ประชุมถกเถียงกันไปมากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้ใครอภิปรายหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม ก่อนจะประกาศการนับองค์ประชุม มีเพียง 204 คน จากเมื่อช่วงเช้ามีสมาชิกลงชื่อเข้าร่วมการประชุม 650 คน ซึ่งถือไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงประกาศให้เลิกการประชุม และนัดใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น.

 

จากนั้น นายสุทิน คลังแสง สส.พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวระบุว่า เหตุผลที่ สส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้แสดงตนในที่ประชุม เพราะมีเจตนาจะไม่ให้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป

"หากเดินทางตรงไม่ได้ก็ต้องเดินทางโค้ง เมื่อทางโค้งยังไม่สำเร็จ ขอหยุดการเดินทางไว้ก่อน ดีกว่าเดินต่อไปแล้วตกเหว"

related