svasdssvasds

สรุปให้ "ฮั้วเลือก สว." DSI พบหลักฐานอะไรถึงจะตั้งเป็นคดีพิเศษ?

สรุปให้ "ฮั้วเลือก สว." DSI พบหลักฐานอะไรถึงจะตั้งเป็นคดีพิเศษ?

เปิดหลักฐาน DSI ทำไมชงตั้งคดี "ฮั้วเลือก สว." เป็นคดีพิเศษ ออกแบบโพย-ทำงานร่วมคล้ายองค์กรอาชญากรรม! ด้าน "สว.กลุ่มใหญ่" ขยับล่ารายชื่อถอดถอน "ทวี สอดส่อง" พ้นรัฐมนตรี

SHORT CUT

  • DSI จ่อเสนอคดี "ฮั้วเลือก สว." เป็นคดีพิเศษ หลังพบหลักฐานทำงานอย่างเป็นขบวนการอาชญากรรม ขัดต่อกฎหมายเลือก สว.
  • พบหลักฐานการจัดตั้ง ทำโพย จองโรงแรม วางแผนตัวจริง-ตัวปลอม แจกเสื้อเหลือใส่วันจริง เข้าเป้า 138 จาก 200 คน
  • ด้าน สว.กลุ่มใหญ่ จ่อเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องสอบใน กมธ. เหตุทำให้ สว.เสื่อมเสีย ล่ารายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

เปิดหลักฐาน DSI ทำไมชงตั้งคดี "ฮั้วเลือก สว." เป็นคดีพิเศษ ออกแบบโพย-ทำงานร่วมคล้ายองค์กรอาชญากรรม! ด้าน "สว.กลุ่มใหญ่" ขยับล่ารายชื่อถอดถอน "ทวี สอดส่อง" พ้นรัฐมนตรี

จับตา 25 ก.พ. 2568 นี้ จะมีการประชุม "คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)" เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดี "ฮั้วเลือก สว." เป็นคดีพิเศษหรือไม่ หลังมีผู้สมัคร สว.-ผู้เสียหาย ยื่นให้ DSI ตรวจสอบขบวนการจัดตั้งระบบเลือก สว.ที่ไม่โปร่งใส จากนั้น DSI ได้สอบสวน ทั้งการสอบพยานบุคคล-ตรวจหลักฐานดิจิทัล-เอกสารหลักฐาน 

 

DSI สืบสวนเบื้องต้นพบว่า

หลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดแล้ว ขบวนการมีรูปแบบ "คณะบุคคล" จัดตั้งเครือข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

  • จัดตั้งผู้สมัครระดับ อำเภอ สมัครกลุ่มละ 5 คน รวม 100 คน จำนวน 928 อำเภอ
  • มีค่าตอบแทนระดับอำเภอ 50,000 บาท ระดับจังหวัด 10,000 บาท และระดับประเทศ 40,000-100,000 บาท
  • หากได้ สว.มากกว่า 120 คน จะได้เพิ่มอีก 100,000 บาท

 

โพยฮั้ว : มีผู้ร่วมขบวนการ ตัวจริง+ตัวปลอม กว่า 1.2 พันคน

  • เมื่อผ่านระดับจังหวัด มีการ "ทำโพยฮั้ว" ที่อยุธยา ปทุมธานี และนครนายก
  • 24 มิ.ย. 67 เวลา 16:00 น. จ่ายเงินสดมัดจำ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจ่ายหลัง กกต.รับรองผล
  • โพยฮั้ว สว.มีหมายเลข จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน
  • การเลือกระดับประเทศ ขบวนการจัดตั้งมีผู้สมัครกว่า 1,200 คน
  • เตรียมบุคคลมาลงคะแนน เรียกว่า "กลุ่มพลีชีพ"

ดูแลทุกระดับ เข้าเป้า 138 จาก 200 คน!

  • 26 มิ.ย. 67 (วันเลือก สว.ระดับประเทศ) เวลา 05:00 น. แจกเสื้อเหลืองให้ผู้สมัครระดับประเทศ จัดรถตู้ส่งที่เมืองทองธานี
  • มีโพยทั้งรอบเช้า รอบไขว้ ผลการเลือกออกมาตามโพย (มีโพย 2 ชุด)
  • ผู้สมัครกลุ่มละ 7 คนเป็นผู้ได้รับเลือก รวมเป็น สว. 138 คน และมีลำดับสำรองอีกกลุ่มละ 2 คน เข้าเป้า!

 

นอกจากนี้รายการข่าวค้นคนข่าว ตรวจสอบเพิ่มเติมพบ

ข้อมูลจาก "ทีมสืบสวน"

  • มีการเข้าพักโรงแรมเดียวกันอย่างผิดปกติ จองมาล่วงหน้าทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
  • มีผู้รับจัดการจองที่พัก
  • มีการใช้โทรศัพท์เป็นกลุ่มก้อนเชื่อมโยงกัน
  • ผู้ประสานงานเกี่ยวข้องกับ "นักการเมืองใหญ๋" และ "พรรคการเมืองใหญ่" บางพรรค
  • ผู้ประสานงานโทรหา "บุคคลในองค์กรอิสระ" ที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. บ่อยจนผิดปกติ
  • มีการนัดพบทั้ง ก่อน-ระหว่างการคัด-ภายหลัง เหมือนเลี้ยงฉลอง ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับ "นักการเมือง-พรรคการเมืองใหญ่"
  • หลัง กกต.รับรองผลฯ พบว่า สว.ที่มีชื่อในโพย กระจายรับตำแหน่งประธาน กมธ. ต่างๆ ลงมติสอดคล้องกัน

ทำไมต้องเป็น "คดีพิเศษ" ?

  • กลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน
  • กระทำการอุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง
  • มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก
  • จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ เช่น เส้นทางการเงิน การสืบสวนทางไอที สถานที่จัดประชุม คุ้มครองพยาน

 

สว. โต้กลับ ขู่ถอดถอนรัฐมนตรี!

ขณะที่ สว.กลุ่มใหญ่ แสดงออกตอบโต้ประเด็นนี้แล้ว ล่าสุด พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 จะเดินหน้าเอาผิดต่อผู้กล่าวหาทั้งรัฐและเอกชน ฐานทำให้ สว.เสียหาย ถูกเข้าใจผิด กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องจะเชิญหน่วยงานชี้แจงข้อกล่าวหา "อั้งยี่ซ่องโจร" เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง

 

และจะมีการเข้าชื่อเสนอให้ประธานวุฒิสภาส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง" จะเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เมื่อถามว่าจะอภิปราย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กำกับดูแล DSI คนเดียวหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า เป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และต้องดูด้วยว่าใครอยู่เบื้องหลัง!

 

ต้นเดือน ก.พ. 68 DSI มีหนังสือถึง กกต. ขอความเห็นดำเนินคดีตามคำร้อง เพื่อขอให้ กกต.มอบอำนาจให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ กกต.ตอบกลับมาว่ายังไม่พิจารณามอบอำนาจให้ DSI เพราะไม่มีหลักฐานว่า DSI รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ จึงยังไม่เสนอให้ คณะกรรมการ กกต.พิจารณา

 

ใครมีอำนาจสอบเรื่องนี้กันแน่? กกต. หรือ DSI

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลดีเอสไอ เห็นว่า กกต.มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ซึ่งเป้นไปตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. แต่ก็จำกัดเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการคัดเลือกเท่านั้น ไม่ว่าจะทุจริต จ่ายเงิน ล็อกเป้า ทำโพย หรือตัวเองไม่มีคุณสมบัติ แต่มาลงสมัคร 

แต่ความผิดที่เป็น “ความผิดอาญา” เช่น อั้งยี่ ความทางความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ ความผิดฐานฟอกเงิน เป็นอำนาจหน้าที่ของ ดีเอสไอ แน่นอน

ล่าสุดมีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ โดยยก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 49 มายืนยันอำนาจของ กกต. ว่ามีอำนาจเต็มในการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก สว.ทั้งหมด ทุกฐานความผิด ยกเว้นว่า กกต.จะมอบหมายให้องค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายองค์กรอื่นดำเนินการเท่านั้น

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ (กกต.) ว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป…ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว” ความใน ม.49 พรป.กกต.

ฉะนั้นก็ต้องรอลุ้นว่า ดีเอสไอจะเชื่อตาม พ.ต.อ.ทวี รับเป็นคดีพิเศษโดยไม่รอ กกต.ชี้ขาดหรือไม่ หรือว่าจะต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อรอดูท่าทีของ กกต.

 

related