svasdssvasds

สว. ไม่ถอยดันเสียงข้างมาก 2 ชั้น ลุ้นประชามติครั้งแรก ม.ค.69

สว. ไม่ถอยดันเสียงข้างมาก 2 ชั้น ลุ้นประชามติครั้งแรก ม.ค.69

สว. ไม่ถอยดันเสียงข้างมาก 2 ชั้น ลุ้นประชามติครั้งแรก ม.ค.69 ทำเอาแสงสว่างแห่งการได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไกลออกไปอีก

SHORT CUT

  • ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ สว. อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วนแล้วได้ลงมติ ผลปรากฎว่า มติวุฒิสภา 153 เสียงเห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม ต่อ 24 เสียงและงดออกเสียง 13 เสียง
  • ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สภาฯลงมติในรายงานของกรรมาธิการร่วม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดลงมติวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หาก สส. ลงมติแย้ง กับ สว. จะเป็นผลให้ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ (ฉบับแก้ไข) ต้องถูกยับยั้งไว้ เป็นเวลา 180 วัน
  • ทำเอาการได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่อเลื่อนออกไป

สว. ไม่ถอยดันเสียงข้างมาก 2 ชั้น ลุ้นประชามติครั้งแรก ม.ค.69 ทำเอาแสงสว่างแห่งการได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไกลออกไปอีก

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขของวุฒิสภา ที่แก้ไขด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เกณฑ์ผ่าน 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสัยงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ

นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร ส.ว.อภิปรายว่า การออกเสียงประชามติข้างมากชั้นเดียว เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เพราะมีไม่กี่ประเทศที่ใช้กรออกเสียงประชามติ 2 ชั้นที่สร้างปัญหา มากกว่าข้อดี และรูปแบบรัฐเป็นสหพันธรัฐ เพื่อไม่ให้รัฐใหญ่ใช้พวกมาลากไป แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเดียว จึงควรใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมอ้างตัวอย่างการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหมือนการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2559 ที่กฎหมายเดิมใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2 ชั้น ก่อนมีการเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว เพราะเสียงข้างมาก 2 ชั้น ถูกรณรงค์ให้คว่ำง่ายมาก เมื่อ คสช.อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ผ่าน ก็มีการแก้ไขกฎหมาย กลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว

“เมื่อประชาชนอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนบ้าง ก็มีการแก้ไขกฎหมายประชามติ กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เสมือนเวลาโจรอยากมาขึ้นบ้าน ก็เอาบันไดมาพาด พอโจรขึ้นไปแล้ว ไม่อยากให้เจ้าของปีนตามขึ้นไป ก็ถีบบันไดทิ้ง”นายนรเศรษฐ์ กล่าว

นางอังคณา นีละไพจิตร ส.ว. อภิปรายว่า ที่ผ่านมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรื่องประชามติ ล้วนเป็นการทำประชามติแบบเสียงข้างมากปกติทั้งสิ้น และวันนี้เราตอบคำถามกับประชาชนไม่ได้ว่าทำไมเราถึงใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำไมสว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่จะให้กลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและประชาชนจับตามองโดยการแก้ไขให้กลับมาเป็นเสียงข้างมากปกติจะลดความซับซ้อนของการทำประชามติและนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับบริบทของสังคม และวันนี้บทบาทของวุฒิสภากำลังถูกจับตามองทั้งจากคนไทยและองค์การระหว่างประเทศ

“ดิฉันหวังว่า ส.ว.จะพิจารณเรื่องนี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะประชาชนกำลังจับตาว่าวุฒิสภากำลังทำอะไร มติจะออกมาอย่างไร การแก้ไขเพื่อใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ถึงแม้สว.ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่า สส.จะยืนยันหลักการแก้ไขให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว แม้จะรอระยะเวลาอีก 6 เดือนจึงจะสามารถประกาศใช้ นั่นไม่เป็นปัญหา และวุฒิสภาอาจจะถูกกล่าวหาว่าการยืนยันให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะเป็นเพียงความต้องการที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย“ นางอังคณา กล่าว

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. อภิปรายว่า ร่างกฎหมายประชามติ ถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง เพื่อยืดเยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป จนไม่เห็นอนาคต และครั้งนี้หากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้นซึ่งไม่เกินคาดหมาย และทางสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว ก็จะต้องใช้เวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน ซึ่งจะนานไปถึงกลางปี 2568 อย่างนี้เรียว่าเกมยึดเยื้อหรือไม่ แล้วทำไมต้องยึดเยื้อ

“เป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจหรือเปล่า ที่หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เร่งด่วน หลังจากนั้นการลงติของวุฒิสภาก็ยืดเยื้อไป การลงมติเช่นนี้เป็นไปตามใบสั่งของใครหรือไม่ดิฉันไม่ทราบ” น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า หลักการเสียงเสียงข้างมากชั้นเดียวมีข้อดีมากมาย นักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนเพราะเป็นไปตามหลักสากล สมาชิกก็แสดงเหตุผลนับสนุนเสียงข้างมากชั้นเดียวแล้ว แต่มาวันนี้ตนขอตอกย้ำและยืนยันการลงประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียวอีกครั้ง คืออย่าสองมาตรฐาน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว พอจะแก้ไขทำไมต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น และระบบการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นระบบเสียงข้างมากชั้นเดียว ทำไมประชามติจึงต้องแปลกแยก ขอถามว่าประเทศไทยเคยใช้วิธีการเลือกด้วยเสียงข้างมากสองชั้นหรือไม่ และอยากจะบอกว่าอย่าดัดจริต อย่าสองมาตรฐาน เราเป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่สหพันธรัฐ หลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา การลงมติของสมาชิกวุฒิสภา จะถูกจัดจำไปตลอดว่าท่านเป็นผู้สนับสนุนการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบอารยะ หรือท่านเป็นผู้เหนี่ยงรั้งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

ด้าน นายนิกร จำนง เลขานุการกมธ.ร่วมกันฯ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้มีรูรั่ว มีช่องว่าง ในกรณีหากสภาฯพิจารณาแล้วมีข้อสรุปว่าจะแก้รัฐธรรมนูญจะใช้เพียงแค่เสียงข้างมากชั้นเดียว จะไม่ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นเช่นเดียวกันกรณีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นฝ่ายเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยึดเสียงข้างมากสองชั้น และตนยังมีคำถามว่ากรณีประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอต่อสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แล้วสภาส่งต่อไปยังครม. ถามว่าต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการออกเสียงประชามติ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่

นายนิกร กล่าวต่อว่า วิปรัฐบาลมีมติไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับ กมธ.ร่วมกัน แน่นอนว่า 180วันรออยู่โดยนับแต่วันมะรืนนี้ เมื่อครบ180วัน ก็จะมีการนำเสนอเพื่อให้สภายืนยัน จากนั้นรอ 3 วัน และ5 วันเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในส่วนของการออกกฎหมายลูก เข้าใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น่าจะใช้เวลา 1 เดือน พอกฎหมายประกาศใช้ก็เชิญสำนักงบประมาณ มาพูดคุยว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ เคาะมติครม. ต้องใช้เวลา 90-120 วัน โดยกระบวนการทั้งหมดประมาณ 10เดือนครึ่ง ตนคิดว่าเราจะได้ทำประชามติครั้งแรกในเดือน มค.69 จากนั้นเดือนก.พ. จึงจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256

“ดังนั้นเรื่องที่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี70 ลืมไปได้เลย เหมือนจะให้พระอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันตก เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในเดือน เมษายน 69 คาดว่ามาตรา 256 จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากสว.ไม่ให้ผ่าน ซึ่งช่วงนั้นสภาปิด ก็ต้องรอวันที่ 3 กรกฎาคม สภาเปิดสมัยประชุมสุดท้าย ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ทัน เท่ากับส.ส.ร.ก็ไม่ได้ ถามว่าท่านจะแบกรับไหวหรือไม่” นายนิกร กล่าว

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ร่วมฯ ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เสี่ยงเปิดช่องให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการทำประชามติ ทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้ประชามติผ่าน มีช่องทางใหม่เอาชนะการทำประชามติ แทนที่จะเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนไม่เห็นด้วย ก็ไปรณรงค์ให้ประชาชนนอนอยู่กับบ้าน ก็สามารถคว่ำประชามติได้ ที่ตลกร้ายกว่านั้น เกณฑ์เสียงข้างมาก 2ชั้น จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงน้อย เพราะไม่อยากให้ประชามติผ่าน ขัดกับหลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่อยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเยอะๆ

“การลงมติของสว. หากต้องการยืนยันเสียงข้างมาก 2ชั้น ขอให้ลงมติสนับสนุนด้วยใจจริง อย่าลงมติเพียงเพื่อต้องการใช้กลไก ยุทธศาสตร์ ชะลอหรือขัดขวาง เพราะไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ”นายพรอษฐ์ กล่าว
.
ส่วน นายพิศิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ส.ว.ในฐานะกมธ.ร่วมฯชี้แจงว่า จากการสำรวจความเห็นประชาชนของนิด้าโพลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2ชั้นในการทำประชามติ มีเสียงเห็นด้วย 51.4%สนับสนุนให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในการทำประชามติ และเสียงอีก 59.84%เห็นด้วยจะต้องมีเสียงเห็นชอบทำประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

“ขอยืนยันว่า สว.ไม่มีเกมการเมืองในการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ สว.ทุกคนมีอิสระในการคิด เลือก ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง การระบุว่า หากกฎหมายประชามติต้องยื้อการบังคับใช้ออกไป 180 วัน อาจมีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันการเลือกตั้งปี2570นั้น ถามว่า ใครเป็นผู้กำหนดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปี2570 และถ้าใช้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันจริงๆ จะมีผลกระทบอะไรต่อประชาชน ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรอง”นายพิศิษฐ์​กล่าว

นายพิศิษฐ์​กล่าวต่อว่า ส่วนการระบุว่า การใช้เสียงข้างมาก 2ชั้นเป็นการรณรงค์ให้คนนอนหลับทับสิทธินั้น ไม่เชื่อว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ ไม่มีใครกล้าพูดแบบนี้แน่ เพราะบ่งบอกความไม่เป็นประชาธิปไตย สว.ไม่ต้องการพ.ร.บ.ประชามติที่ดีที่สุด แต่ต้องการได้พ.ร.บ.ประชามติที่ยืดหยุ่น สามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทั้งนี้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะใช้เฉพาะกรณีแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ส.ว. อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วนแล้วได้ลงมติ ผลปรากฎว่า มติวุฒิสภา 153 เสียงเห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม ต่อ 24 เสียงและงดออกเสียง 13 เสียง ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สภาฯลงมติในรายงานของกรรมาธิการร่วม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดลงมติวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หาก สส. ลงมติแย้ง กับสว. จะเป็นผลให้ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ (ฉบับแก้ไข) ต้องถูกยับยั้งไว้ เป็นเวลา 180 วัน

related