SHORT CUT
วุฒิสภามีมติ 167 เสียง สวนมติ สส. เห็นชอบให้กลับไปใช้หลัก "Double Majority" ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เสี่ยงจะเสร็จไม่ทันยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์
วันที่ 30 กันยายน 2567 วุฒิสภามีมติเสียงข้างมาก 167 เสียง เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ให้เติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ "ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น"
ซึ่งขัดต่อหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้แก้ไขก่อนหน้านี้ ที่พบว่า เกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา
ช่วงหนึ่ง นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยสัดส่วนคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ.68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ตนตั้งความหวังไว้ อยากให้สว.เห็นดวยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูญของประชาชนไว้
ขณะที่ นายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า ตนเห็นว่าการแก้ไขเรื่องเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นของ กมธ.นั้นชอบธรรมและถูกต้อง และขอชื่อชม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่ตามมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้ไขเกณฑ์ข้างมาก 2 ชั้น ไม่เป็นปัญหา หากได้ 3 ชั้นยิ่งดี อย่างไรก็ดีความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง นายก อบจ. นั้น เป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล เพราะขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัว ผู้สมัครนายก อบจ. แล้ว 70-80% ดังนั้น หากสว.ผ่านให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองทันที