svasdssvasds

ส่องชีวิต ‘ฮีโร่โอลิมปิก’ นักกีฬาโอลิมปิกไทย อยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่บ้าง

ส่องชีวิต ‘ฮีโร่โอลิมปิก’ นักกีฬาโอลิมปิกไทย อยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่บ้าง

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสเริ่มต้นขึ้นแล้ว และเชื่อว่าหลายคนตั้งนาฬิกาเอาไว้ว่าเมื่อไหร่ที่ทัพนักกีฬาไทย 51 คนจาก 16 ชนิดกีฬาแข่งขัน จะกระโดดไปนั่งหน้าทีวีรอลุ้นรอเชียร์กันให้สุดเสียง

หลายคนน่าจะจำการลุ้นตัวเกร็งเมื่อครั้ง สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองกลับสู่ประเทศเป็นครั้งแรก หรือเมื่อครั้ง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หมุนตัวเตะคู่แข่งจากสเปนและขึ้นไปยืนเหนือสุดที่โพเดียม ประกาศศักดาคนไทยกันได้

ว่าแต่สงสัยไหมว่า ทุกวันนี้ ฮีโร่เหล่านั้นทำอะไรกันอยู่บ้าง พวกเขายังอยู่ในวงการกีฬาหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันแล้ว วันนี้ เราชวนย้อนมาดูเรื่องราวของ 7 นักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติไทยกัน 


 

ผลงานทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิก

นับตั้งแต่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1952 จนถึงโอลิมปิกเมื่อปี 2020 ไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิครวมทั้งหมด  638 คน และคว้าไปแล้ว 35 เหรียญ หรือคิดเป็นอันดับที่ 57 ของโลก 

โดยนักกีฬาได้เหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกจากทั้งหมด 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ 

  • ยกน้ำหนักคว้าได้ 5 เหรียญทอง, 2 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง 
  • มวยสากลสมัครเล่นคว้าได้ 4 เหรียญทอง, 4 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง 
  • เทควันโดคว้าได้ 1 เหรียญทอง, 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง 

เรียกได้ว่าฟอร์มโดยรวมของนักกีฬาไทยไม่แย่เลย ว่าแต่ชีวิตหลังมหกรรมกีฬาของนักกีฬาเหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลมาให้ดูกัน


 

จากวันนั้น – วันนี้ 

แล้วจากวันนั้น – วันนี้ ฮีโร่โอลิมปิกเหล่านี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง พวกเขาทำอะไรกันอยู่ เราชวนไปติดตามเรื่องราวของพวกเขากัน 

 

  • สมรักษ์ คำสิงห์ ไม่ได้โม้

เริ่มต้นกันด้วย สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของไทย ต้องเล่าก่อนว่าสมรักษ์ไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกแล้วคว้าเหรียญกลับมาได้ทันทีเลย แต่เขาเคยอกหักจากโอลิมปิกปี 1994 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยแพ้ให้แก่นักมวยทีมเจ้าภาพนั่นเอง

สมรักษ์กลับเข้าร่วมโอลิมปิคอีกครั้งในแอตแลนตาเกม ที่สหรัฐอเมริกาในปี 1996 ก่อนจะกลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 57 กิโลกรัม ก่อนเขาจะถือพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ขึ้นไปบนเวทีกลายเป็นภาพจำมาถึงปัจจุบัน 

หลังจากกลับจากโอลิมปิก สมรักษ์กลายเป็นดาวประดับฟ้า ด้วยคาแรคเตอร์อารมณ์ดี เปิดเผย และตลกขบขัน ทำให้สมรักษ์ได้รับชวนจากแวดวงบันเทิงให้ไปร่วมแสดงละคร, ภาพยนต์ และมิวสิควีดีโออย่างต่อเนื่อง 

และในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีให้ประเทศชาติ กองทัพเรือได้ชักชวนให้สมรักษ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ทร. ซึ่งเขาก็ตอบรับ ก่อนที่จะมาลาออกจากกองทัพเพื่อลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ขอนแก่น เขต 11 ในการเลือกตั้งปี 2566 สิ้นสุดการรับราชการด้วยยศ ร.อ. 

นอกจากการทำงานในวงการบันเทิง สมรักษ์ยังเคยทดลองทำธุรกิจหลายประเภท อาทิ ร้านหมูกะทะ, ปั๊มน้ำมัน รวมถึงค่ายมวย ส.คำสิงห์ซึ่งปิดตัวลงแล้ว อย่างไรก็ตาม สมรักษ์เพิ่งให้สัมภาษณ์กับช่อง ONE ว่ากำลังวางแผนจะเปิดค่ายมวยแห่งใหม่ขึ้นอีกครั้ง 

 

  • เกษราภรณ์ สุตา เหรียญแรกนักกีฬาหญิงไทย 

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อของ เกษราภรณ์ สุตา กันมากนัก แต่เธอคนนี้คือนักกีฬาหญิงคนแรกของไทยที่ได้รับเหรียญจากโอลิมปิคในซิดนีย์เกม ประเทศออสเตรเลีย ปี 2000 

อาจเป็นโชคชะตาก็เป็นไปได้ เพราะโอลิมปิกปี 2000 เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการโอลิมปิกบรรจุกีฬายกน้ำหนักหญิงเข้าสู่การแข่งขัน และในครั้งนั้น ทีมชาติไทยก็ได้ส่งเกษราภรณ์เป็นตัวแทนนักกีฬายกน้ำหนักหญิงไทยเข้าแข่งขันในรุ่น 58 กก. และถึงแม้ร่างกายจะไม่พร้อมนัก เนื่องจากอาการบาดเจ็บ เธอก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงกลับมาได้ และกลายเป็นนักกีฬาหญิงของไทยที่ประสบความสำเร็จในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ภายหลังที่เธอกลับสู่ประเทศไทย เธอได้รับการบรรจุเข้าสู่กองทัพเรือ และทำงานอยู่ในสังกัดกองทัพเรือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยดำรงยศ นาวาโทหญิงเกษราภรณ์ สุตา 

 

  • อุดมพร พลศักดิ์ ทองแรกของนักกีฬาหญิงไทย 

ต้องเรียกว่าเป็นยุคที่กีฬายกน้ำหนักหญิงของไทยรุ่งเรือง เมื่อเพียง 4 ปีหลังจากเกษราภรณ์คว้าเหรียญแรกกลับบ้าน อุดมพร พลศักดิ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘น้องอร สู้โว๊ย!’ ก็กลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่สร้างตำนานอีกครั้ง 

อุดมพรเข้าแข่งขันในกีฬายกน้ำหนักรุ่น 53 กก. ก่อนที่คว้าเหรียญทองแรกในฐานะนักกีฬาหญิงไทยกลับบ้านเกิดได้ อีกทั้ง เธอยังทำลายสถิติท่าคลีนแอนด์เจิร์กของโอลิมปิก โดยยกได้ที่น้ำหนัก 125 กก. 

สำหรับกิมมิคที่หลายคนจำเธอได้มาจากวลีติดปากว่า “สู้โว้ย” ซึ่งเธอเล่าว่าพูดขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและระบายความเครียดของตัวเองก่อนลงแข่ง โดยต่อมา วลีนี้ยังถูกนำไปแต่งเป็นเพลง สู้โว้ย โดย เบนซ์ จูเนียร์ อีกด้วย  

ในปัจจุบัน อุดมพรถอยออกมาจากแวดวงกีฬายกน้ำหนักแล้ว และเข้ารับราชการอย่างเต็มตัวในกองทัพบก โดยดำรงยศพันโท อยู่ที่บ้านเกิด ค่ายสุรนารี นครราชสีมา และทำธุรกิจหอพักอยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน 

 

  • เยาวภา บุรพลชัย ผู้จุดประกายเทควันโดไทย 

พูดได้เลยว่าก่อนที่ เยาวภา บุรพลชัย จะคว้าเหรียญทองแดงจากกีฬาเทควันโดรุ่นน้ำหนัก 49 กก. ในเอเธนส์เกม ประเทศกรีซ ปี 2004 กระแสเทควันโดในไทยอยู่ในมุมอับมาตลอด 

เยาวภาได้จุดประกายให้กับวงการเทควันในไทย จนต่อมามีทั้ง บุตรี เผือดผ่อง, ชนาธิป ซ้อนขำ, เทวินทร์ หาญปราบ รวมถึง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่เดินตามเธอ กลายเป็นเทควันโดฮีโร่ของไทย คว้าเหรียญจากกีฬาเทควันโดกลับมาสู่แผ่นดินไทยอย่างไม่ว่างเว้น

นอกจากเยาวภาจะเป็นผู้จุดประกายกีฬาเทควันโดในไทยแล้ว ในปัจจุบัน เธอยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงกีฬา โดยรับตำแหน่งที่ปรึกษาสมาคมเทควันโด, ผู้จัดการแข่งขันเทควันโด ลีก รวมถึงยังเปิดโรงเรียนสอนเทควันโดในชื่อ ‘วิว เทควันโด อคาเดมี’ และโรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัวชื่อ ‘The Legend Arena’ ในหัวหิน 

เธอยังให้ความสนใจในด้านการเมือง โดยเคยลงสมัครเลือกตั้งปี 2554 ในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 ในนามพรรคชาติพัฒนา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่ 

และตำแหน่งที่น่าติดตามของอดีตฮีโร่โอลิมปิกรายนี้คือ นายกสมาคมนักกีฬาโอลิมปิคแห่งประเทศไทย โดยเธอเพิ่งได้รับเลือกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่ามานี่เอง (เข้าไปฟังแนวคิดเธอได้ที่ Voice TV

 

  • มนัส บุญจำนงค์ ยอดมวยเสเพลผู้คว้า 2 เหรียญโอลิมปิก

ในประวัติศาสตร์การเข้าร่วมโอลิมปิคของทีมชาติไทย มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่เคยคว้าเหรียญโอลิมปิกมาได้มากกว่าหนึ่งเหรียญคือ วันดี คำเอี่ยม (ยกน้ำหนัก), พิมศิริ ศิริแก้ว (ยกน้ำหนัก), พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทควันโด) และมนัส บุญจำนงค์ (มวยสากล) 

เรียกได้ว่าในเชิงมวยเพียงอย่างเดียวหาใครเปรียบมวยนามมนัสได้ยากนัก เขาเข้าร่วมแข่งโอลิมปิคครั้งแรกและคว้าเหรียญทองได้จากเอเธนส์เกมปี 2004 ก่อนจะเป็นตัวแทนทีมชาติอีกครั้งในปักกิ่งเกมปี 2008 และคว้าเหรียญเงินติดมือกลับมาได้อีกครั้ง

ชีวิตนอกสนามของมนัสก็จัดจ้านเช่นเดียวกับบนเวทีมวย เขาทั้งติดการพนัน เที่ยวกลางคืน และเคยเกือบฆ่าตัวตายเพราะปัญหาด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งกำปั้นของเขาจะพาเขาพลิกวิกฤตมาสู่โอกาสได้เสมอไป 

ด้วยชื่อเสียงที่เขามอบให้แก่ประเทศ และด้วยพรสวรรค์หาตัวจับยาก เขายังคงโลดแล่นอยู่ในวงการหมัดมวย โดยเคยถูกชวนให้ไปสอนมวยที่ประเทศจีน และในปัจจุบัน เขารับเป็นครูสอนมวยให้กับค่าย ส.สมหมาย รวมทั้งเปิดรับลูกศิษก์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Manus Boonjumnong อีกด้วย

 

  • สมจิตร จงจอหอ “ผมเจ็บมาเยอะ”

อีกหนึ่งดาวฤกษ์ ผู้คว้าเหรียญทองกลับมาสู่แผ่นดินไทยคือ สมจิตร จงจอหอ จากกีฬามวยสากล ในพิกัด 51 กก. ในปักกิ่งเกม ปี 2008 

แต่สมจิตรย้ำอยู่เสมอว่า “ผมเจ็บมาเยอะ” เพราะกว่าที่เขาจะคว้าเหรียญทองมานอนกอดในปี 2008 เขาต้องฝ่าฟันความผิดหวังนับไม่ถ้วน ทั้งไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนทีมชาติในโอลิมปิกปี 2000 และเกือบแขวนนวมหลังพ่ายแพ้ในโอลิมปิก ปี 2004 แต่สุดท้าย เขาก็ลุกขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยคำถามสั้นๆ จากภรรยาว่า “อยากเลิกจริงหรือแค่หนีปัญหา?”

ภายหลังที่เขากลับมาพร้อมเหรียญทอง เขาได้เข้าทำงานในกองทัพบก และไต่เต้าขึ้นมาจนถึงยศ พ.ต.ท. อีกทั้งยังเคยได้โอกาสทำงานในวงการบันเทิงทั้งในบทบาทพิธีกรและนักแสดงละครและภาพยนตร์ 

อีกทั้งก่อนหน้านี้ สมจิตรยังเคยเปิดค่ายมวยชื่อ สมจิตรยิม ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อย่างไรก็ดี เขาตัดสินใจปิดค่ายดังกล่าวลงแล้ว เพื่อนำเงินไปรักษาภรรยาที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง 

 

  • พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ลุ้นสร้างประวัติศาสตร์ 3 เหรียญโอลิมปิก

ในปารีสเกมที่เริ่มต้นขึ้นแล้วนี้ หนึ่งในทัพนักกีฬาไทยที่ลุ้นว่าจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่คว้า 3 เหรียญโอลิมปิกมาคล้องคอได้สำเร็จคือ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดหญิงของไทย 

พาณิภัคหรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อ ‘เทนนิส’ เข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในปี 2016 และสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ แต่ความมุ่งมั่นเธอยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะในโอลิมปิคปี 2020 เธอผลักดันตัวเองให้แกร่งกว่าเดิม และสามารถคว้าเหรียญทอง พร้อมกับที่เข้าสู่ทำเนียบนักกีฬาไทยคนที่ 4 ที่คว้าสองเหรียญจากโอลิมปิกมาได้สำเร็จ 

ในนอกสนาม พาณิภัคได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2016 ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนยศเป็นเรืออากาศโทหญิงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ เธอยังเปิดโรงเรียนสอนเทควันโดในชื่อ ’Panipak Taekwondo‘ ซึ่งตั้งอยู่ที่โครงการ Little Walk กรุงเทพกรีฑา โดยเปิดสอนทั้งในรูปแบบคลาสนักกีฬา, คลาสเทควันโดสำหรับผู้ใหญ่, คลาสเทควันโดสำหรับเด็ก รวมไปถึงสอนโยคะ

นี่เป็นเพียง 7 จาก 35 เรื่องราวของฮีโร่โอลิมปิกไทย ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ปลอดภัยและเข้มแข็งภายหลังต่อไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่พวกเขาทุกคนทำ คือความภูมิใจของทุกคน

และหวังเป็นอย่างยิ่งเช่นกันว่า หลังจากปารีสเกมครั้งนี้จบลง นี้จะมีเรื่องราวของฮีโร่โอลิมปิกของไทยอีกหลายคน รอให้เล่าขานตำนานสืบกันต่อไป 



 

related