SHORT CUT
“เจสซี่ โอเว่นส์” นักกีฬาผิวดำอเมริกา ผู้หยุดความมั่นของ “ฮิตเลอร์” ในสนามกีฬาโอลิมปิก แต่เพราะคำว่าเขาเป็นคนผิวดำจึงถูกเลือกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่สำคัญของมวลมนุษยชาติ ที่ประลองฝีมือของแต่ละชาติผ่านกีฬา และแน่นอนว่าหลายๆ ชาติต่างทำเต็มที่เพื่อให้ชาติของตนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกไปครอบครอง
แต่โอลิมปิกไหนๆ จะดุเดือดเท่าโอลิมปิกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1936 เมื่อเยอรมนีภายใต้การปกครองของพรรคนาซี มีผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
เยอรมนีหมายมั่นปั้นมือจะเป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิกในทุกๆ กีฬาโดยเฉพาะกรีฑา ฮิตเลอร์ผู้มีความคั่งความเป็นอารยันมั่นใจมากว่าคนเยอรมนีจะต้องชนะเพราะมีสายเลือดที่บริสุทธิ์และเข้มแข็งเหนือกว่ามนุษย์เชื้อชาติอื่นแต่ปรากฏว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เพราะปรากฏนักกีฬาผิวดำผู้มีเชื้อสาย แอฟริกัน-อเมริกา นาม เจสซี่ โอเว่นส์ สามารถแข่งขันชนะจนได้เหรียญทอง เล่นเอาท่านผู้นำโกรธเป็นอย่างมากมีข่าวลือว่า ฮิตเลอร์ โมโหมากถึงขนาดปฏิเสธที่จะจับมือกับเขา
ตำนานนี้อาจเรียกได้ว่า โอเว่นส์ กลายเป็นผู้ทำลาย ความมั่นหน้าของ “ฮิตเลอร์” ในสนามกีฬาโอลิมปิก ในสภาวะที่ฮิตเลอร์คิดว่าตัวเองคือพระเจ้าสามารถกำหนดชัยชนะของกีฬานี้ได้แต่เพียงผู้เดียว
SPRiNG พาไปรู้จัก “เจสซี่ โอเว่นส์” นักกีฬาผิวดำอเมริกา ผู้หยุดความมั่นหน้าของ “ฮิตเลอร์” ในสนามกีฬาโอลิมปิก
เจสซี่ โอเว่นส์ หรือชื่อเต็มว่า เจมส์ คลีฟแลนด์ โอเว่นส์ (James Cleveland Owens) เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1913 ที่เมืองโอ๊กวิลล์ รัฐอลาบามา และเป็นลูกชาวไร่ชาวนา
พื้นฐานครอบครัวของเขาคือครอบครัวธรรมดาทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและเขาเองต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเขา
ในช่วงมัธยมปลายเขาเรียนที่ East Technical High School ชื่อของ เจสซี่ โอเวนส์ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศในฐานะนักวิ่งระยะสั้น จากการสร้างสถิติในการวิ่ง 100 และ 200 หลา รวมถึงการกระโดดไกล
ต่อมาเขาเข้าเรียนที่ Ohio State University และลงแข่งขันในรายการ Big Ten Championship ในปี ค.ศ. 1935 ในรายการนี้ โอเวนส์ทำลายสถิติระดับโลกทั้งการวิ่ง 100 หลา และ 220 หลา การกระโดดไดล และการวิ่งข้ามรั้วระยะ 220 หลา ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่ยากจะหาใครเทียบในแต่ละช่วงวัยของเขา
เรียกได้ว่าพรสวรรค์ของเขาได้เชิดฉายเรื่อยมา
และในที่สุดเขาก็ได้เป็นตัวแทนของคนอเมริกาเตรียมแข่งขันโอลิมปิกปี ค.ศ.1936 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในอนาคตที่หลายคนไม่คาดคิดหนุ่มน้อยคนนี้จะโคจรไปพบกับจอมเผด็จการที่โลกต้องจารึกนามว่า “ฮิตเลอร์”
ในขณะที่ โอเว่นส์ เข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเป็นช่วงที่พรรคนาซีเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์ปกครองประเทศ
เยอรมนีเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ฮิตเลอร์ต้องการให้เยอรมนีเป็นเจ้าเหรียญทอง เขาเองเชื่อว่าชนชาติอารยันแข็งแรงและฉลาดที่สุด ฉะนั้นกีฬาประเภทที่สำคัญ ชนชาติเยอรมันต้องห้ามแพ้
โดยเฉพาะกีฬาประเภทกรีฑา กีฬาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ฮิตเลอร์หมายมั่นปั้นมือว่าชนชาติอารยันเป็นชนชาติโบราณต้องชนะในประเภทกีฬาดังกล่าว
ขณะที่ โอเวนส์ ก็เป็นตัวแทนนักกรีฑาจากสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาเขาได้สร้างประวัติศาสตร์มากมายจากการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์นั้น โดยโอเวนส์ได้คว้าเหรียญทองเหรียญแรกจากการแข่งวิ่งระยะ 100 เมตร และมีชัยเหนือ Luz Long แชมป์จากเยอรมนี ในการกระโดดไกล
เขายังได้สร้างสถิติใหม่ในโอลิมปิกจากการแข่งวิ่ง 200 เมตร อีกทั้งยังมีผลงานจากการวิ่งผลัด 4×100 ที่เขาก็ทำลายสถิด้วยเช่นกัน โอเวนส์กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่สามารถคว้าสี่เหรียญทอง ในการแข่งขันประเภทกรีฑาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพียงครั้งเดียว
โอเวนส์ กลายเป็นดาวเด่นในโอลิมปิกครั้งนั้น แต่ที่สำคัญกว่าสำหรับเขาคือ ความสำเร็จและชัยชนะต่อหน้าลัทธิเหยียดเชื้อชาติทั้งในอเมริกาและเยอรมัน
ฮิตเลอร์ถึงกับตกตะลึงที่ชาวอเมริกันยอมลดตัวเพื่อให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนนี้เข้าแข่งขันในโอลิมปิกในปีนั้น
มีข้อมูลอ้างว่า ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะจับมือกับโอเวนส์ และฮิตเลอร์ไม่ต้องการจับมือผู้ชนะหากนั่นไม่ใช่มือของชาวเยอรมัน และปกติเขาจะเป็นผู้มอบเหรียญให้กับผู้ชนะในการแข่งขันโอลิมปิก แต่เมื่อ โอเวนส์ชนะเขากลับปฏิเสธที่จะเป็นผู้มอบรางวัล
เรียกได้ว่าโอเวนส์ทำฮิตเลอร์ขายหน้าเป็นอย่างมาก และเป็นผู้หยุดความมั่นหน้าของ “ฮิตเลอร์” ในสนามกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้อีกด้วย
หลายคนอาจจินตนาการว่าวีรบุรุษจากสนามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกต้องได้รับการเชิดชูจากประเทศแม่ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่ไม่ใช่กับชายหนุ่มที่ชื่อว่า “โอเวนส์”
เมื่อฮีโร่เหรียญทองผู้นี้กลับมายังสหรัฐฯ ไม่มีคำเชิญจากทำเนียบขาว ไม่มีโทรเลขแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีสำหรับสถิติการคว้าเหรียญทองของเขา เพราะความจริงคือ เกียรติยศเหล่านั้นถูกสงวนไว้สำหรับนักกีฬาผิวขาวเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในงานเลี้ยงที่โอเวนส์ได้รับเกียรติให้เข้าไปร่วมรับประทานอาหารเย็น ขณะที่แขกคนอื่นได้รับการบริการตามมาตรฐานด้วยลิฟต์ทั่วไปสำหรับแขก แต่โอเวนส์กลับถูกปฏิบัติด้วยการกีดกันและให้ใช้ลิฟต์ขนของ
และเขาไม่ได้พึงถูกกระทำ แต่ตลอดช่วงชีวิตของโอเวนส์ เขาได้สัมผัสกับความเป็นจริงนี้มาตลอดตั้งแต่วัยเยาว์ที่รัฐอลาบามา เมื่อเขาประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาที่มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เขาจะเป็นกัปตันทีมกรีฑาผิวดำคนแรกของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตก็ตามเขาก็ยังต้องอาศัยอยู่นอกบริเวณมหาวิทยาลัย อาบน้ำแยก ทานอาหารที่ร้านอาหารสำหรับคนผิวดำ หรือขณะเดินทาง เขาสามารถเข้าพักได้เฉพาะในโรงแรมที่มีแต่คนผิวดำเท่านั้น
หลายปีต่อมา เมื่อระบอบการปกครองของนาซีล่มสลายลง เจ้าของสี่เหรียญทองแห่งโอลิมปิกปี ค.ศ. 1936 ได้กลับไปที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1951 มีรายงานว่า วอลเตอร์ ชไรเบอร์ (Walter Schreiber) นายกเทศมนตรีเบอร์ลินตะวันตกในขณะนั้น ได้กล่าวกับโอเวนส์ว่า “ฮิตเลอร์ไม่ยอมจับมือกับคุณ แต่ผมขอมอบสองมือของผมให้แก่คุณเลย”
แต่กระนั้นภายหลังสงครามเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนแปลง โอเวนส์ได้ใช้ประโยชน์จากความสำเร็จของเขาด้วยการทำงานเป็นทูตกีฬาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเขามีรายได้และมีชีวิตที่ดีในฐานะวิทยากรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน
วาระสุดท้ายของชีวิต โอเวนส์เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอดในปี ค.ศ. 1980 เมื่ออายุ 66 ปี ชีวิตของเจสซี่ โอเวนส์ เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Race เข้าฉายเมื่อปี ค.ศ. 2016 และเขามักเป็นแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาผิวสีในยุคหลังอยู่เสมอ
ชีวิตของเขาผ่านทั้งการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้กับประเทศแม่ที่ชังเขา การยั่วยุจอมเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ด้วยการแข่งขันกีฬาชนะชนชาติเยอรมนีเป็นจุดสูงสุดของใครหลายๆ คนแต่สำหรับโอเวนส์นั้นไม่ใช่เพราะเขาไม่เคยถูกยอมรับ
บั้นปลายชีวิตและตำนานหลังจากลาโลกไปกลับเป็นจุดสูงสุดในชีวิตที่เขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนทั่วโลก
อ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง