“อนุดิษฐ์” แชร์ข่าว “อีลอน มัสก์” ติงสหรัฐฯ ทุ่มงบฯปั้น F-35 ไม่คุ้มค่า แนะพัฒนา “โดรน” ตอบโจทย์กองทัพยุคใหม่ หวังไทยปรับวิสัยทัศน์ตาม หนุนอุตฯป้องกันประเทศของไทย ลดการพึ่งพาต่างชาติ สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตผู้บังคับฝูงบิน F-16 และอดีต สส.หลายสมัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงความเห็นของ อีลอน มัสก์ นักธุรกิจเจ้าของ Tesla และ SpaceX ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีโดรน แทนโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 ของสหรัฐอเมริกาที่ "ไม่คุ้มค่าและซับซ้อนเกินไป" ว่า
ความเห็นของ อีลอน มัสก์ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่การพัฒนาโดรนกำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญของยุทโธปกรณ์ในหลายประเทศ ซึ่งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร เช่น พ.อ. คาเรน ควีตคอฟสกี้ ที่เปรียบเครื่องบินขับไล่ F-35 ว่าเป็นเครื่องจักรที่ซับซ้อนเกินเหตุ สะท้อนถึงแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีที่มีราคาแพงเกินไปอาจไม่ตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกต่อไป
การพัฒนาเทคโนโลยีโดรนในยุคนี้สามารถตอบโจทย์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ภารกิจลาดตระเวน การชี้เป้า การถ่ายภาพ ไปจนถึงการโจมตีแบบแม่นยำ โดยมีต้นทุนต่ำกว่าอาวุธยุคเก่าอย่างมาก สามารถทดแทนเครื่องบินรบแบบเก่าได้อย่างเหมาะสม ทั้งในด้านความปลอดภัย และงบประมาณ โดยโดรนยุคใหม่สามารถทำภารกิจซับซ้อนได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตของนักบิน
น.อ.อนุดิษฐ์ ยังแสดงความกังวลต่อการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโดรนและยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อจากต่างชาติ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านอธิปไตยข้อมูล เขาเน้นย้ำว่าประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และจีน ต่างพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย ประเทศไทยจึงควรใช้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตัวเอง ลดการนำเข้าจากต่างชาติ ไม่ใช่แค่เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระยะยาวด้วย
โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 ที่ใช้งบประมาณมหาศาลถึง 6 หมื่นล้านบาท หากไม่มีการชดเชยแบบทางตรง (Direct Offset) โดยไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือจ้างให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วน หรือระบบ Software ต่างๆ ก็จะแปลความได้ว่า เราต้องพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตและประเทศผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว ไปอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี และเครื่องบินขับไล่ก็ไม่มีความอ่อนตัวต่อภัยคุกคามและเทคโนโลยีในอนาคต จะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เหมือนที่ อีลอน มัสก์ วิจารณ์โครงการ F-35
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุด้วยว่า หากต้องการซื้อเครื่องบินขับไล่จริงๆ กองทัพอากาศ (ทอ.) ต้องปิดจุดอ่อนเหล่านี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นเครื่องบินรบฝูงนี้จะกลายเป็นภาระของ ทอ. และรัฐบาลต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ควรปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เปิดใจทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องมองอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นพันธมิตร ที่สามารถเสริมศักยภาพกองทัพ ลดการพึ่งพาการจัดซื้อจากต่างชาติ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเริ่มหารือกับภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเรา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภัยคุกคามในยุคปัจจุบันโดยเร็วที่สุด
“ถ้าคิดแบบตรงไปตรงมาไม่ลำเอียง การพัฒนาเทคโนโลยีโดรนที่ลงทุนน้อยกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมความต้องการได้ตลอดเวลา และสามารถตอบสนองภัยคุกคามได้ตรงกับสถานการณ์มากกว่า” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุในช่วงท้ายด้วยว่า โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยทุกเหล่าทัพที่ดำเนินการอยู่ จึงถือเป็นโอกาสทวีคูณในการปรับวิสัยทัศน์ เพื่อเพิ่มปัจจัย และตอบโจทย์การสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติแบบจับต้องได้ ที่ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยแห่งรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกในอนาคต ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพประเทศในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง
ที่มา : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง