“อนุดิษฐ์” ชำแหละ “ลิงค์ทิพย์-ออฟเซ็ททิพย์” ห่วงข้อเสนอ SAAB ให้สิทธิพัฒนา TDL-ACCS ซ้ำที่เคยให้ตอนซื้อ ”กรินเพน“ ฝูงแรก ห่วง ทอ.ถูกหลอกอีก
วันนี้ (20 ส.ค.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประเด็น
“EP 4: ลิงค์ทิพย์ vs ออฟเซ็ททิพย์” ซึ่งเป็นตอนที่ 4 ของการติดตามโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนฝูงบินเก่าที่กำลังจะปลดประจำการในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทของ ทอ.
2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมหยุดนำเสนอข้อมูลและความเห็นเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินรบของ ทอ. เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งผลออกมาแบบไหน ทุกท่านคงทราบแล้ว ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ทำหน้าที่ของตนเองเพื่อประเทศชาติและประชาชนให้ดีที่สุดต่อไปครับ
ผ่านไป 3 EP แล้วครับ อาทิตย์นี้เรามาว่ากันต่อ นอกเหนือจากข้อมูลใน FB ของผมที่ทุกท่านมาอ่านซ้ำได้แล้ว ยังสามารถชมคลิปสัมภาษณ์ของผมใน YouTube ได้เช่นกันตาม Link ที่ปรากฏต่อไปนี้ https://youtu.be/Kuha27VNwsc?si=W_9THcrP3dq7Rwg3 และ https://youtu.be/W85KwyLjB_Y?si=ffdbMQIeOOooE6nt
เดิมใน EP 4 นี้ ผมตั้งใจเสนอแนวทางและบรรทัดฐานของการระบุเงื่อนไขตามนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy สำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากบริษัทต่างประเทศให้กับ กรรมาธิการงบประมาณ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา พรบ.งบประมาณปี 68 วาระที่ 2 โดยนำมาจากแนวทางและเงื่อนไขการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบาแบบ AT-6 ของ ทอ.ซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์แบบจับต้องได้ ทั้งเรื่องการจ้างอุตสาหกรรมในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสิทธิ์ในการเข้าถึงซอฟแวร์ปฏิบัติการ ที่ประเทศไทยสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใครหน้าไหนอีกแล้ว
แต่เผอิญผมได้รับโทรศัพท์จากอดีตผู้บังคับบัญชาระดับ 5 เสือท่านหนึ่ง ที่ท่านอยู่ในโครงการจัดหากริพเพนฝูงแรก เสียงปลายสายดูจะไม่สบายใจ โดยท่านส่งคลิปการรายงานข่าวในประเด็น “ศึกLink?ศึกซ้อน Gripen-F16 ถก LinkTH มีอยู่จริง-ลิ้งค์ทิพย์-ลิ้งค์ต้องห้าม? ลิ้งค์ใหม่ทอ./ชูขั้วกริพเพ่น” ของพี่เล็ก วาสนา นาน่วม ตาม LINK ต่อไปนี้ https://youtu.be/i65FSppA3os?si=D7EiBrWryRICU4sI มาให้ผม
สาระสำคัญที่ท่านถ่ายทอดให้ผมฟังก็คือ การที่ ทอ.ในสมัยนั้นตัดสินใจเลือกเครื่องบินกริพเพนจากบริษัท SAAB ของ สวีเดน แทนที่จะเลือกเครื่องบิน F-16 จาก Lockheed Martin ของสหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่ ทอ.มี F-16 ประจำการใน ทอ.อยู่แล้วถึง 3 ฝูง ก็คือ บริษัท SAAB เสนอเงื่อนไขให้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี หรือ Tactical Datalink (TDL) โดยเสนอพร้อม Core Avionic Source Code (โค้ดต้นฉบับหลักของระบบต่างๆในเครื่องบิน) เพื่อให้ ทอ.มีขีดความสามารถในการใช้งานและดูแล ต่อยอด พัฒนาได้เองอย่างมีอิสระ ซึ่งหมายความว่าข้อเสนอดังกล่าว ทอ.ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสวีเดนอีก
ต่างกับกรณี F-16 ที่ต้องขออนุญาตรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกครั้งที่ต้องการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงซอฟแวร์ต่างๆ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ทอ.ตัดสินใจเลือกเครื่องบินกริพเพนแทนเครื่องบิน F-16 ที่ไม่สามารถเสนอเงื่อนไขเช่นเดียวกันให้กับ ทอ.ได้
แต่จากรายงานข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอมานั้น ทำให้ท่านเกิดความสงสัยว่า ทำไมบริษัท SAAB จึงเสนอเงื่อนไขแบบเดิมมาอีก ในเมื่อข้อเสนอจากการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงแรก ก็ระบุเงื่อนไขที่บริษัท SAAB ให้ ทอ.ใช้งานและพัฒนาต่อยอด ระบบ TDL ต่อไปด้วยอุตสาหกรรมในประเทศได้เลย และวันนี้ ทอ.ก็พัฒนา Link TH ขึ้นมาใช้งานกับเครื่องบินหลายแบบ ทำไมจะต้องมีเงื่อนไขกลับไปให้บริษัท SAAB เป็นคนพัฒนา National Link หรือ Link TH ให้กับ ทอ.ทั้งระบบ
เพราะแปลความได้ว่า ทอ.ต้องจ้างบริษัทต่างชาติ และต้องนำ Source Code เครื่องบินรบของไทยทั้งหมดที่ไทยพัฒนาเอง มอบให้กับบริษัทต่างชาติเพื่อบูรณาการในระบบ ACCS ( Air Force Command and Control) ซึ่งเป็นระบบบัญชาการและควบคุมการรบของ ทอ. ทั้งๆที่ ทอ.ควรต้องขอสิทธิ์นำ Source Code จากบริษัทต่างชาติ เพื่อนำมาพัฒนาเองมากกว่าหรือไม่!
ระบบความมั่นคงปลอดภัยของประเทศที่ไทยทำเองได้ แต่ไปจ้างต่างชาติมาทำแทน ตรรกะแบบนี้ผิดเพี้ยนไปได้อย่างไร ถ้าผมเข้าใจผิดก็ช่วยชี้แจงด้วยนะครับ เพราะเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของชาติ เราปล่อยให้ผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด
หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า Link TH เป็นของไทย 100 % และพร้อมต่อยอดไปเป็น National Link ก็คือ วันนี้ Link TH ถูกใช้บนเครื่องบินรบหลายแบบ และ ทอ.จะเปลี่ยนชื่อ Link ดังกล่าวเป็นอะไรก็ได้ จะไม่เรียกว่า Link TH แต่เรียกว่า Link AlphaJet หรือชื่ออื่นๆก็ย่อมได้ เพราะมันเป็นสิทธิ์ของ ทอ. เอง ต่างกับ Link ต่างประเทศอื่นๆที่ ทอ.ใช้อยู่ที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนชื่อของเขาได้ และยังต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาลต่างชาติทุกครั้งที่ต้องการพัฒนาระบบดังกล่าว
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะแม้แต่ผมเองก็ยอมรับว่า ผมเข้าใจผิดมาตลอด คิดว่าบริษัท SAAB และรัฐบาลสวีเดน ให้สิทธิ์ในการใช้งาน และส่งมอบ Core Avionic Source Code ของเครื่องบินกริพเพนให้กับ ทอ. เพื่อให้เรามีอธิปไตยในการพัฒนาระบบ TDL และ ระบบ ACCS ของเราได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงบินแรกแล้ว
แต่ถ้าฟังจากรายงานข่าว ที่ยืนยันว่า บริษัท SAAB พึ่งจะมาเสนอการพัฒนา TDL และ ACCS ในครั้งนี้ แถมยังต้องจ้างบริษัท SAAB ให้เป็นผู้พัฒนาระบบให้ด้วย แบบนี้น่ากังวลนะครับว่า ทอ.จะถูกหลอกอีกหรือเปล่า เพราะเสนอเช่นนี้แปลความได้อย่างเดียวว่าการจัดซื้อกริพเพนฝูงแรก ไม่มีข้อเสนอแบบนี้มาก่อนใช่หรือไม่? ซึ่งไม่น่าจะใช่นะครับ เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาของผมยืนยันว่าเหตุผลหลักที่เราซื้อกริพเพน ก็เพราะข้อเสนอเหล่านี้ทั้งสิ้น
ผมว่าสิ่งที่ ทอ.ควรในวันนี้ให้โปร่งใสและชัดเจน ก็คือทวงถามสิทธิ์เรื่อง Core Avionic Source Code และต้องอนุญาตให้ ทอ.มีขีดความสามารถในการใช้งานและดูแล ต่อยอด พัฒนาได้เองอย่างมีอิสระ ซึ่งหมายความว่า ข้อเสนอดังกล่าว ทอ.ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสวีเดนอีก และขอให้ยืนยันกันตอนนี้เลย
เอาตรงนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องบินจากประเทศไหน ผมว่ายังตัดสินใจได้ทันเวลาสบายๆ
เพราะถ้า ทอ.บอกว่า สิทธิ์ในการเข้าถึงและพัฒนาระบบทั้ง TDL และ ACCS เป็นของ SAAB และต้องขออนุญาตรัฐบาลสวีเดนทุกครั้ง และถ้าไม่ใช่บริษัท SAAB ก็ไม่มีบริษัทหน้าไหนจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปพัฒนาระบบ และไม่มีทางที่บริษัท SAAB จะมอบ Core Avionic Source Code ให้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ผมว่า ทอ.ต้องรีบทบทวนสัญญาเก่าโดยด่วน ความจริงจะได้ปรากฏ
เพราะที่ผ่านมา ถ้าบริษัท SAAB ไม่ได้ให้ Core Avionic Source Code กับ ทอ.ทั้งหมด และการพัฒนาและต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบ ไทยยังต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสวีเดนทุกครั้ง แบบนี้แหละที่ผมกลัว!
เพราะพฤติกรรมแบบนี้ต่างหากที่จะถูกเรียกว่า “ลิงค์ทิพย์” และ “ออฟเซ็ททิพย์” ซึ่งผมเชื่อว่า ผบ.ทอ.ท่านนี้จะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นเด็ดขาด และพวกเราจะรอให้ท่านนำข้อเสนอของทั้ง 2 บริษัท มาเปิดเผยให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจได้รับทราบอย่างโปร่งใสต่อไปนะครับ
ที่มา : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง