svasdssvasds

อนุดิษฐ์ ชี้ต้องซักข้อเสนอ F-16 ให้ชัดเจนทุกด้าน ต้องได้ชดเชยคุ้มค่า

อนุดิษฐ์ ชี้ต้องซักข้อเสนอ F-16 ให้ชัดเจนทุกด้าน ต้องได้ชดเชยคุ้มค่า

“อนุดิษฐ์” ชี้ข้อเสนอขาย F-16 ฟังดูดี แต่ต้องซักให้ชัดเจนทุกด้าน ตั้งศูนย์วิจัยฯ-พัฒนาแรงงาน ควรได้ชดเชยกลับมาในรูปแบบต่างๆ ที่มูลค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป และจับต้องได้ ย้ำ “ไทย” ในฐานะผู้ซื้อย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการต่อรอง ยังรอฟังข้อเสนอ Gripen มาเทียบด้วย

วันที่ 26 ก.ค. 67 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “EP 2 : นโยบายชดเชยและข้อเสนอการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin)” ซึ่งเป็นการติดตามการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนฝูงบินเก่าที่กำลังจะปลดประจำการในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทของ ทอ. เป็นตอนที่ 2

 

สาระสำคัญกล่าวถึงข้อเสนอของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่ได้แถลงข่าวพร้อมมอบข้อเสนอชดเชยทางเศรษฐกิจ และ การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย (Offset / a robust industrial participation proposal) จำนวน 7 ข้อก่อนหน้านี้ ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์ มองว่าข้อเสนอฟังดูดีทุกข้อ แต่ต้องการให้ ทอ.และหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรรมการจัดซื้อฯ สอบถามรายละเอียดแต่ละข้อเสนอให้ชัดเจนในทุกด้าน และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อความโปร่งใสด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ ได้ยกตัวอย่าง 3 ข้อที่ทางบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ได้ระบุในการเสนอขาย (Proposal) F-16 Block 70/72 ให้แก่ประเทศไทย คือ

 

ผลประโยชน์ด้านที่ 1 คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center)

เพื่อยกระดับแรงงานไทยในหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฟังดูดี แต่กรรมการจัดซื้อฯ ต้องถามกลับไปว่า บริษัทฯต้องการจะทำอะไรบ้าง ทำแค่ไหน ขอให้ระบุรายละเอียดแผนการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวลงไปด้วย ว่าจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร และมีเป้าหมายในการยกระดับแรงงานไทยแค่ไหน อย่างไร เพราะหากไม่มีรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ ก็พูดยากว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy หรือไม่

 

ส่วนผลประโยชน์ด้านที่ 2 คือ การฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง (Advanced aerospace engineering training)

ให้กับพันธมิตรในไทย รวมถึงกองทัพอากาศไทยนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า ต้องระบุหัวข้อและรายละเอียดมาให้ด้วยว่า จะมีการฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูงในหัวข้ออะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยเสนอว่าต้องการสร้าง UCAV (อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ หรือโดรนต่อสู้) ได้เอง บริษัทฯ จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยสามารถสร้าง UCAV ได้เองหรือไม่ เป็นต้น

ผลประโยชน์ด้านที่ 3 คือ การพัฒนาแรงงานในภาคการผลิต (Manufacturing workforce development)

โดยหากทางบริษัทฯ ต้องการให้เกิดการพัฒนาแรงงานในภาคการผลิตนี้ได้จริง และจับต้องได้ ในเอกสารข้อเสนอต้องมาพร้อมเอกสารข้อตกลง รวมถึงผู้ร่วมมือที่จะต้องผลิตตามข้อผูกพันเพื่อส่งมอบแก่ Lockheed Martin โดย ทอ. ต้องนำเอกสารเหล่านั้นตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบกับ Saab จากสวีเดน ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ Gripen (กริพเพน) ซึ่งเสนอขายเครื่องบิน JAS 39 Gripen E/F ด้วย

 

“ในการจัดซื้อเครื่องบิน ต้องระบุการจ้างงานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยดังกล่าวไว้ในสัญญาในปริมาณหรือมูลค่าที่ตกลงร่วมกัน ควบคู่ไปกับการอบรมระหว่างปฏิบัติงาน (On the Job Training) จึงจะเห็นผลและจับต้องได้จริง และผลงานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว จะต้องเป็นหนึ่งในหัวข้อการตรวจรับงวดงานด้วย เช่นเดียวกับสัญญาที่ ทอ.เคยมีกับบริษัท Textron ในโครงการ T-6, AT-6 มาแล้ว” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

 

น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำด้วยว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ซื้อย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการต่อรองเงื่อนไขต่างๆ และข้อเสนอที่แต่ละประเทศเสนอมานั้น เป็นเรื่องที่สามารถเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้งานคือ ทอ. และด้วยข้อเสนอจากนโยบายชดเชยต่างๆ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาสู่ประเทศไทยในรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ให้พึ่งพาตนเองและเป็น S Curve ตัวที่ 11 ที่สร้างรายได้กลับคืนมาให้กับประเทศอีกด้วย

 

“ที่สำคัญและห้ามบกพร่องเด็ดขาดก็คือ รัฐบาลไทยต้องต่อรองให้ข้อเสนอทุกข้อ ชดเชยกลับมาในรูปแบบต่างๆ ที่คำนวณแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำหรือมากกว่างบประมาณที่เราต้องเสียไป ประเทศไหนมีข้อเสนอๆชัดๆ คำนวณได้จริง จับต้องได้ ก็น่าเชียร์” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

related