SHORT CUT
“ปารมี” จ่อชงคุรุสภารื้อระบบใบอนุญาตทำงาน “ครูชาวต่างชาติ” ชี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ในระบบการศึกษา “ของ่าย-ไม่มีการติดตาม” หลังเกิดกรณีคุกคามทางเพศนักเรียนไทยนานกว่า 20 ปี
วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ปารมี ไวจงเจริญ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีครูต่างชาติล่วงละเมิดเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชนนานาชาติในไทย ยาวนานถึง 20 ปี ตามข้อมูลที่สำนักข่าว SPRiNG และ The Nation ได้เปิดเผยผ่านโปรเจค “Unsafe School” ว่า หลังได้ทราบเนื้อหาจากข่าว ตนได้ติดต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (ศช.) เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และมาตรการป้องกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนโดยตรง รวมถึงจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ด้วย
.
ในกรณีนี้ตนรู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบข่าว และเห็นว่าผู้ได้รับความเสียหายใช้เวลานานในการเปิดเผยเรื่องนี้ ทำให้คนร้ายสามารถกระทำความผิดซ้ำอยู่ในไทยยาวนานหลายปี ปารมี มองว่า ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งคือระบบรับเรื่องร้องเรียนปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Safety Center ที่ตั้งมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลับใช้ไม่ได้เลยในปัจจุบันนี้ แม้ว่าตนจะอภิปรายไปในสภาฯ กว่า 4-5 รอบแล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญความรุนแรงในโรงเรียนที่ไม่ใช่เฉพาะความรุนแรงทางเพศ แต่ยังมีความรุนแรงอื่นๆ เช่น ความรุนแรงทางวาจา การด้อยค่า การตีเด็ก เป็นต้น ซึ่งตนมีความคิดจะหารือกับทางพรรคประชาชน ว่าจะจัดทำระบบ Traffy Fondue รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนโดยตรงดีหรือไม่ เพื่อเป็นจุดเกาะเกี่ยวแรกเมื่อนักเรียนถูกคุกคามว่าจะมีเส้นทางร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะ คนเป็นครูย่อมมีอำนาจเหนือนักเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในกลุ่มเปราะบาง เช่น นักเรียนชาติพันธุ์ นักเรียนที่ยากจน อำนาจยิ่งลดจะถูกอำนาจครูที่มีอำนาจเหนือกว่าครอบงำชี้นำ การมีช่องทางร้องเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับข้อเสนอเชิงโครงสร้างในการแก้ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา ปารมี กล่าวว่า กรณีการคุกคามต่อนักเรียนสามารถแบ่งได้เป็นกรณีความรุนแรงทางเพศและกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ โดยในกรณีความรุนแรงทางเพศในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขให้ความผิดทางเพศ เป็นความผิดวินัยร้ายแรงของครู เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตนมองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมเพราะทำให้ครูไม่กล้ากระทำความผิดทางเพศ เพราะหากกระทำผิดจะมีโทษหนักถึงขั้นไล่ออกได้
ส่วนกรณีความรุนแรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศ หรือการคุกคามด้วยกายและวาจา ปารมี เผยว่า ปัจจุบันยังไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งตนกำลังผลักดันผ่านทาง รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่รับผิดชอบในการควบคุมกฎเกณฑ์ความผิดบุคลากรครู ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไป ที่จะระดับความรุนแรงการคุกคามเกี่ยวข้องกับระดับบทลงโทษ แต่ส่วนตัวมองว่ากาารคุกคามนักเรียนทุกระดับเป็นความผิดวินัยร้ายแรงทั้งหมด
ปารมี ยังมีข้อเสนอเรื่องการควบคุมใบอนุญาตครูชาวต่างชาติ ว่า ในปัจจุบันครูต่างชาติที่มาสอนในไทยจะมีใบอนุญาตสอนของชาวต่างชาติ ออกให้โดยคุรุสภา ซึ่งปารมีกล่าวว่ามีความแตกต่างจากการขอใบประกอบวิชาชีพครูของครูชาวไทยอย่างมาก คุรุสภาออกใบอนุญาตให้ครูชาวต่างชาติง่ายเกินไป ตนคิดว่าจำเป็นต้องมีการยกระดับให้เข้มข้นขึ้น เพิ่มการติดตามประเมินผล ติดตามกำกับดูแลพฤติกรรมการสอนของครูต่างชาติ ให้เท่าเทียมกับครูชาวไทยด้วย
“ถ้าเป็นฝั่งครูที่เป็นข้าราชการไทย ตั๋วครูในปัจจุบันต้องมีการประเมิน แต่เมื่อเป็นครูต่างชาติ ระบบการติดตามผลของคุรุสภากับครูชาวต่างชาติ ตนคิดว่าไม่มีเลย ช่องโหว่นี้เป็นช่องโหว่ใหญ่เลย หลังจากนี้จะเร่งปรึกษาหารือกับคุรุสภาเพื่อปรับปรุงเรื่องนี้โดยด่วน”