svasdssvasds

รักษาอย่างไร ? บาดแผลในจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

รักษาอย่างไร ? บาดแผลในจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ในปัจจุบันที่เราเห็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กมากขึ้น สถานที่ที่ผู้ปกครองไว้ใจก็อาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เด็กหลายคนต้องอยู่กับบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา และยังไม่กล้าพอที่จะออกมารักษาตัว

SHORT CUT

  • เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ 80% - 90% จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่ยังไม่กล้าที่จะออกมารักษาตัว
  • ในการรักษา ต้องให้ความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก และมั่นใจว่าเด็กจะไม่ถูกกระทำซ้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ อยากให้เข้าหาหรือขอความช่วยเหลือทันที

ในปัจจุบันที่เราเห็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กมากขึ้น สถานที่ที่ผู้ปกครองไว้ใจก็อาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เด็กหลายคนต้องอยู่กับบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา และยังไม่กล้าพอที่จะออกมารักษาตัว

ข่าวล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่ปรากฎให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง และมักเกิดกับเด็กที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเองได้ ซ้ำร้ายเด็กบางคนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ 80% - 90% จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่ยังไม่กล้าที่จะออกมารักษาตัว

แพทย์หญิงกนกพร สาคร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลไทยนครินทร์ เล่าว่า เด็กที่เข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลค่อนข้างเยอะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเด็กเพียงแค่ 10%-20% ที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากเหยื่อหลายคนอาจจะยังไม่กล้าพอที่จะเข้ารับการรักษา หลายเคสพอซักประวัติไปก็พบว่าเคยมีการถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ณ ขณะนั้น

ความรุนแรงของอาการหลังเจอเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ความรุนแรงของอาการหลังเจอเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะแบ่งความรุนแรงได้หลายระดับ คือความรุนแรงทางด้านอาการ และความรุนแรงทางด้านระยะเวลา คุณหมอยกตัวอย่างว่า หากเราตั้งต้นว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ทันที เด็กมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เจอ อาจจะมีอาการคิดวนๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่คนไข้ส่วนหนึ่ง พอระยะเวลาผ่านไปก็สามารถบริหารจัดการอาการของตนเองให้น้อยลงได้ ในขณะที่บางเคสจะค่อยๆ พัฒนาอาการขึ้นมาเรื่อยๆ กลายเป็นซึมเศร้า วิตกกังวล ไปจนถึงเกิดความผิดปกติทางจิตใจ (PTSD) คนไข้อาจจะมีภาพเดิมๆ ซ้ำๆ วนในหัว คล้ายกับอาการทางจิต หูแว่ว เกิดภาพหลอน ไม่สามารถรับรู้ มีอาการ Dissociation มีหลายบุคคลิก หรือไม่สามารถกลับไปเผชิญที่เกิดเหตุได้

 

รักษาอย่างไร ? บาดแผลในจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

แนวทางการรักษาเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ในทางการแพทย์ อยากแรกสุด คือต้องให้ความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก ต้องมั่นใจว่าคนไข้จะไม่ถูกกระทำซ้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเบื้องต้น จะมีการประเมินว่าครอบครัวสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้ ก็จะเริ่มมีการทำงานภายในกับเด็กว่าข้างในจิตใจของเด็กมีความมั่นคงปลอดภัยหรือยัง และประเมินก่อนว่า คนไข้ก่อนว่ามีความพร้อมหรือเปล่า ทั้งเรื่องพื้นฐานทางอารมณ์ การจัดการอารมณ์ จัดการความเครียด สามารถจัดการตัวเองได้ไหม หากมีอาการค่อนข้างเยอะ ก็อาจจะมีการใช้ยาเข้ามาเพื่อช่วยให้คนไข้รู้สึกว่า ตัวเองสามารถจัดการตัวเองได้ หลังจากที่ประเมินแล้วว่าคนไข้มีความพร้อมที่จะเล่า ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการบำบัดเชิงลึกมากขึ้น ที่จะเริ่มเข้าไปแตะเรื่องเหตุการณ์ที่เคยถูกกระทำ

“ถ้าข้างนอกเรายังไม่ปลอดภัย ก็ไม่มีทางที่ข้างในเราจะมั่นคงปลอดภัยได้” แพทย์หญิงกนกพร สาคร

ด้วยความที่มันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถลบไปจากความทรงจำได้ แต่เราตีความมันใหม่ให้มีประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิมได้ อาจจะเสริมต้นทุนด้านอื่นๆ ให้เด็ก เช่น หากเด็กรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย หรือจากเหตุการณ์ที่เผชิญมาทำให้มุมมองที่มีต่อตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่สามารถควบคุมดูแลตัวเองได้ การเริ่มตั้งแต่สิ่งเล็กน้อย อย่างการเลือกทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองได้ ให้เด็กรู้สึกว่าไม่ได้น่ากลัว ทำให้เด็กรู้ว่าตัวเขาก็มีศักยภาพ เหมือนกันการปลูกฝังเด็กใหม่ว่าหากสิ่งไหนปลอดภัย เด็กก็สามารถตัดสินใจทำเองได้

“เราเจอเหตุการณ์ที่มันรุนแรงหรือสะเทือนขวัญมากมากๆ บางทีมันไปเชื่อมไปเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวันค่อนข้างเยอะ โดยลืมศักยภาพอื่นๆ ไปด้วย” แพทย์หญิงกนกพร สาคร

คุณหมอเล่าว่า เราต้องสอนให้เด็กจัดการอารมณ์ให้ได้ในระดับหนึ่ง สอนตั้งแต่การผ่อนคลาย เทคนิคการหายใจ มองสิ่งอื่นต่างๆ ในห้อง ตั้งสติให้กลับมา ณ ปัจจุบัน เพื่อให้เวลาที่เข้าไปคุยถึงประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งกระตุ้น เด็กจะสามารถกลับมาปัจจุบันที่เข้มแข็งได้ แต่ถ้าเด็กยังกลับมาไม่ได้ ก็ต้องกลับไปรักษาในระยะที่ต้องเตรียมความพร้อม เพราะไม่ได้มีการจำกัดเวลาในการรักษา การรักษาส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเข้มแข็งของจิตใจเด็ก

รักษาอย่างไร ? บาดแผลในจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

หน้าที่ของจิตแพทย์ คือ มีหน้าที่แค่ช่วยเตรียมความพร้อม ช่วยเหลือได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะจะเจอเด็กอย่างมากเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ก่อนที่เด็กจะเดินออกไปใช้ชีวิต เจอผู้คน และจัดการตัวเอง มันคืออีกส่วนใหญ่ๆ ที่ช่วยให้เด็กหายเร็วขึ้น แต่ในเคสที่เด็กไม่อยากคุย หมอก็จะต้องยอมรับในการตัดสินของเด็ก และถ้าวันไหนเด็กพร้อมที่จะเล่า เราก็จะทำงานไปด้วยกัน

บาดแผลทางจิตใจ สามารถรักษาหายได้ 100% ?

มีการศึกษาพบว่าบาดแผลจิตใจสามารถส่งผลกระทบถึงการทำงานของสมอง ไปจนถึงเปลี่ยนไปถึงการทำงานในระดับ  DNA ในกรณีที่เด็กโดนกระทำซ้ำๆ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแสดงออกของ DNA ได้ และการที่เด็กจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคมได้ ก็ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือ ว่าเราช่วยเหลือเด็กได้เร็วไหม ถ้าเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เด็กได้รับประสบการณ์เชิงบวกมากขึ้น สมองก็ปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคนว่าจะกลับมา 100% หรือเปล่า

การรักษาให้ดีขึ้นสามารถมีทั้งสามารถพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ไม่ได้มีปฏิกิริยาทางด้านอารมณ์ที่รุนแรง ในขณะที่บางเคสก็ยังมีภาวะวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติได้ ในหลายๆ เคสก็มีถึงขั้นไม่ต้องให้หมอคลี่ลาย พอถ้าเด็กมีต้นทุนดี ครอบครัวเข้าใจและพร้อมสนับสนุน คนรอบข้างและครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งดีขึ้นหรือแย่ลง

“เหมือนกับการหายของแผล ที่ขึ้นอยู่กับแผลใหญ่แค่ไหน ถ้าแผลไม่ใหญ่ เราภูมิคุ้มกันดี ก็สามารถรักษาให้หายไวได้ แต่ถ้ามันเป็นเหตุสะเทือนขวัญหรือเหตุการณ์รุนแรง ตัวของเด็กมีภูมิต้านทานน้อยหน้าที่หมอคือทำให้มันคลีนที่สุด แต่มันก็อาจจะมีอีกกระบวนการบางอย่างที่ทำให้หายเร็วขึ้น” แพทย์หญิงกนกพร สาคร

แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่หายจากอาการแล้ว สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติ ก็อาจจะต้องกลับมาเผชิญกับสิ่งที่ทำให้ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง เพราะในบางครั้ง คนรอบตัวก็ไม่รู้ว่าตัวเด็กผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง คุณหมอเล่าว่า บางเคสที่เป็นเด็กหมอก็อาจจะต้องแนะนำไปเลย ด้วยวิจารณญาณในการตัดสินใจของเด็กที่ยังไม่มากพอ ก็ต้องแนะนำว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด หรือในเคสที่เป็นเด็กวัยรุ่น หมอก็จะมีการค่อยๆพูดคุย แนะนำไปทีละขั้นตอน พยายามส่งเสริมให้เด็กมีคนที่ไว้ใจ

ยังมีเด็กอีก 80%-90% ที่ไม่กล้าเข้ารับการรักษา

สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่กล้าเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ คุณหมอยังบอกอีกว่า หากเด็กที่ไม่แน่ใจว่าถูกล่วงละเมิดหรือเปล่า ก็อยากให้ทุกคนกล้าที่จะเข้าหาหรือเข้ารับความช่วยเหลือ เพราะตัวเด็กเองไม่ได้มีวิจารณญาณมากพอ ทำให้เกิดการใช้อำนาจบังคับเด็กล่วงละเมิดทางเพศ แต่ถ้าเราไม่แน่ใจหรือสงสัย ก็อยากให้เข้าหาหรือขอความช่วยเหลือทันที

“ในฐานะที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ว่าผลกระทบตกอยู่กับเรา ถ้าผลกระทบมันยังรบกวนเราอยู่ การได้มาจัดการมันใหม่ มันก็จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น ถ้ามันมีประเด็นประมาณนี้ขึ้นมา ก็ไม่อยากให้ต้องกลัว ในการเข้ารับการช่วยเหลือ” แพทย์หญิงกนกพร สาคร

 

 

related