เปิดเกณฑ์เงินเยียวยาน้ำท่วมใหญ่ ครม.แพทองธารอัดฉีดงบกลาง 3,000 ล้าน เร่งเยียวยา 3 แสนหลังคาเรือนจมน้ำ เชียงรายโหดสุด เสียหาย 52,688 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหาย 70% รับ 2.3 แสนบาท ต่อหลังคาเรือน
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เชียงรายจังหวัดชายแดนเหนือสุดแดนสยามเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เมืองท่องเที่ยว เชื่อมประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ใหญ่ทางภาคเหนือ ต้องเผชิญวิกฤตลงจากมหาอุทกภัยที่แบบตั้งรับไม่ทัน
แม้ล่าสุดปริมาณน้ำจะคลี่คลายลง แต่ได้ทิ้งบาดแผลจากร่องรอยความเสียหายไว้ให้ หลายครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้แม้แต่ที่จะนอน บางรายที่ต้องพบกับสภาพไม่ต่างจากพายุโคลนซัดถมเข้าในตัวบ้าน อีกทั้งซากปรักหักพังอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ เศษไม้ ที่พัดพามากับกระแสน้ำ ยากจะฟื้นฟูเยียวยา
จากการประเมินเบื้องต้นทั้งภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.น.อ.) ระบุว่า ผลกระทบภาคเหนือตอนบน เสียหาย 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ด้านนายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้า ปภ.เชียงราย สรุปสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมดินถล่มตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายน 2567
มีผลกระทบ 9 อำเภอ 34 ตำบล 153 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) มี อ.เมืองเชียงราย, อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.แม่จัน, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.แม่สาย, อ.ดอยหลวง, อ.เทิง, อ.เวียงแก่น ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ 2 แห่ง ร้านค้า สถานประกอบการ 92 แห่ง ประชาชน 52,688 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 13,877 ไร่
ด้านคณะรัฐมนตรีแพทองธาร ต้องเร่ง เยียวยา ฟื้นฟู ประเทศเป็นการด่วน พร้อมทั้งนั่งหัวโต๊ะตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) และทบทวนกรอบเยียวยาเพื่อความเหมาะสม โดยระบุว่าหากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย 70% ขึ้นไป รัฐบาลจะชดเชยให้ 2.3 แสนบาทต่อหลังคาเรือน ซึ่งใช้งบกลางปี 2567 ก้อนแรกกว่า 3,000 ล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีรับทราบความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นที่กระทบธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ 31 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ครม.ยังรับทราบข้อมูลในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ว่าจะมีความเสียหายมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่เป็นอยู่อาศัยของประชาชนเกิดขึ้นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่องซึ่งนายแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการติดตามความเสียหายอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ด้วยเช่นกัน
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคาร จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะต้องเป็นอุทกภัยที่เกิดในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง
รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ที่อยู่อาศัยนั้นต้องเป็นบ้านอยู่อาศัยเป็นประจำใน อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือ พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ใน 57 จังหวัด
ส่วนเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และ มีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และ จังหวัด นอกจากนี้ หาเป็นกรณีประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียว
การจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ ผู้ประสบภัยจำนวน 338,391 ครัวเรือนใน 57 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ, พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง