SHORT CUT
มีใครเป็นเหมือนกันไหม เวลาซื้อวัตถุดิบไปแช่ตู้เย็น 2-3 วันผ่านไป เหลือบไปเห็นฉลากบอกว่าเลยวัน Best before, Sell by หรือ Use by date ไปแล้ว จนเกิดความสับสนว่ายังสามารถนำไปทำอาหารได้อยู่หรือไม่ และในที่สุดก็ทิ้งลงถังขยะ กลายเป็นขยะอาหาร
ข้อมูลจาก Share my meals เปิดเผยว่า ชาวสหรัฐฯ ทิ้งอาหารเฉลี่ยปีละ 181 กิโลกรัม เนื่องจากสับสนเรื่องฉลาก ด้วยเหตุฉะนี้ แกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจึงตัดสินใจลงนามแบนฉลากออกจากวัตถุดิบทุกชนิด (ยกเว้น นมผมสำหรับทารก ไข่ เบียร์) ถือเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ
โดยรัฐแคลิฟอร์เนียปักหมุดเริ่มใช้กฎนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2026
จุดประสงค์ของการแบนในครั้งนี้คือ ลดขยะอาหาร รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีส่วนทำให้อากาศของรัฐแคลิฟอร์เนียอบอุ่นขึ้น
ซึ่งเมื่อไปดูข้อมูลจากกรมอาหารและเกษตรแห่งแคลิฟอร์เนียจะพบว่า นครแห่งนี้สร้างขยะอาหาร (Food waste) ราว 6 ล้านตันต่อปี แค่รัฐเดียวก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของขยะอาหารที่ประเทศไทยสร้างใน 1 ปี (12 ล้านตัน)
เมื่อไปดูข้อมูลจาก ReFED องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับชาติ ซึ่งทำโครงการด้านขยะอาหารมายาวนาน พบว่า ฉลากบนวัตถุดิบที่มีมากเกินไปทำให้คนทั่วโลกทิ้งขยะไปแบบสูญเปล่าเฉลี่ยปีละ 3 ล้านตัน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ของแคลิฟอร์เนียจะช่วยลดขยะอาหารได้ 70,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ฉลากอาหารมีไว้สำหรับบอกเวลา จุดประสงค์อะไรบางอย่าง ในรายของพ่อบ้านแม่บ้านคงเป็นเรื่องกล้วย ๆ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ซื้ออาหารเข้าครัวบ่อยนักอาจประสบปัญหา “งงฉลาก” วันนี้ SPRiNG จึงพาไปดูว่ามีฉลากอะไรบ้างที่ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจเหมือนชื่อคนรัก
• Expiry Date วันหมดอายุ
• Sell by date วันสุดท้ายที่ควรวางขาย
• Use by date วันสุดท้ายที่บริโภคได้ (เพื่อคุณภาพ)
• Best if used / Best before date วันที่แนะนำให้บริโภค (การันตีคุณภาพ)
*หมายเหตุ วัตถุ หรืออาหารแต่ละประเภทมีวันเวลาที่ยังสามารถบริโภคได้ไม่เหมือนกัน ผู้บริโภคมีสิทธิตัดสินใจเองได้ว่าอาหารของตัวเองต้องรับประทานตอนไหนถึงดีที่สุด หรือได้รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนที่สุด หรืออาหารที่เก็บไว้ได้นานก็แยกออกเป็นอีกกรณีไป
ที่มา: Independent UK, realsimple
ข่าวที่เกี่ยวข้อง