svasdssvasds

รู้หรือไม่ว่าคนไทยผลิตขยะอาหารเกือบ 10 ล้านตันต่อปี

รู้หรือไม่ว่าคนไทยผลิตขยะอาหารเกือบ 10 ล้านตันต่อปี

ในขณะที่คนไทยจำนวนมากกว่า 3.8 ล้านคน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษชี้ว่าคนไทยผลิตขยะอาหารมากถึง 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

SHORT CUT

  • คนไทยยังหิวโหยจำนวนมาก แต่เราก็ผลิตขยะอาหารมากเกือบ 10 ล้านตันต่อปี 
  • ประชากรไทย 1 คน ผลิตขยะอาหารคนละ 146 กิโลกรัมต่อปี และ เรามีอาหารส่วนเกินปีละ 4 ล้านตัน
  • ข้อเสนอของ TDRI น่าสนใจและยังใช้ได้อยู่เสมอ คือ การแยกขยะ ไม่เทรวม และ เพิ่มแรงจูงใจในการลดขยะอาหารของภาคธุรกิจ ที่สำคัญอาจเพิ่มค่าเก็บขยะให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

 

ในขณะที่คนไทยจำนวนมากกว่า 3.8 ล้านคน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษชี้ว่าคนไทยผลิตขยะอาหารมากถึง 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งเป้าให้ปี ค.ศ.2030 หรือ อีก 6 ปีข้างหน้า ต้องลดขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกลง 50% เพราะในขณะที่เราทิ้งอาหารที่ยังกินได้ มีประชากรทั่วโลกกว่า 87 ล้านคน ต้องเผชิญกับความหิวโหย

ขยะอาหารในไทยยังพุ่ง 9.68 ล้านตันต่อปี 

ย้อนมาดูตัวเลขการผลิตอาหารของคนไทย ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษ เผยผลสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย พบว่า

  • สัดส่วนของขยะอาหารมากถึง 39 % คิดเป็นปริมาณ 9.68 ล้านตันต่อปี 
  • หรือ ประชากร 1 คน ผลิตขยะอาหาร 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี 
  • ขยะอาหารในประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากกว่า 8% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด
  • ประเทศมีอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีคนประมาณ 3.8 ล้านคน ที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร

ที่มา : Freepik แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งขยะอาหารสูงสุด คือ ตลาดสด รองลงมา คือ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ สำนักงาน คอนโดมิเนียมและอพาร์ทเม้นท์ โรงแรมและรีสอร์ท วัด ครัวเรือน สถานศึกษา 

ต่างประเทศจัดการขยะอาหารอย่างไร?

ข้อมูลที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รวบรวมไว้ พบว่า ต่างประเทศมีทั้งออกกฎหมายและสร้างแรงจูงใจในการกำจัดขยะจากอาหาร 

  • ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร
  • สหรัฐอเมริกา เน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะอาหาร มากกว่าการลงโทษ
  • เกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการลด ปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี

ไทยมีเป้าหมายลดสัดส่วนขยะอาหารเหลือ 28% ในปี 2570

สำหรับแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจาก 39% เหลือไม่เกิน 28% ภายในปี 2570

โดยมีมาตรการในการลดหรือทิ้งให้น้อยลง ในกลุ่มผู้จำหน่าย ผู้ประกอบอาหาร ผู้บริโภค ครอบคลุม การจัดซื้อและขนส่งอาหาร การประกอบอาหาร การจำหน่าย การเก็บรักษาอาหารและการบริโภค ซึ่งทำให้เกิดขยะอาหารน้อยลง ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้ขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน และหลังจากนี้ จะเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันและลดขยะอาหารของผู้ซื้อและผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหารมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เหลือขยะอาหารที่ต้องกำจัดน้อยที่สุด 

กำจัดขยะอาหารอย่างไรให้ยั่งยืน 

ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่เสนอเอาไว้เมื่อปี 2562 มีอยู่หลายประการที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ทำให้บริษัทเก็บขยะมีความหลากหลาย

เนื่องจากการบริหารจัดเก็บขยะและการบริหารจัดการขยะของภาคเอกชน ได้รับสัมปทานจากเทศบาลหรือสำนักงานเขตในบางพื้นที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะสูงเกินควร

  • เพิ่มตัวกลางในการนำอาหารไปบริจาค

เมื่อหลายปีก่อนมีเพียง SOS ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีระบบขนส่งอาหารที่ได้มาตรฐาน แต่ SOS ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องหากอาหารส่งผลเสียต่อผู้รับบริจาค

  • ทำให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะ

คนไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหารแบบ "เทรวม" กับขยะทั่วไป ทำให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและกำจัดเป็นไปอย่างยากลำบาก การใช้ประโยชน์จากขยะอาหารจึงทำได้ยาก

  • ทำให้ข้อมูลการจัดการขยะอาหารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ประเทศไทยมีผู้เล่นในระบบนิเวศของการบริหารจัดการอาหารที่ครบถ้วนแล้ว แต่การทำงานของแต่ละส่วนยังไม่เชื่อมโยงกัน และยังขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับขยะอาหาร

3 แนวทางสู่นโยบายการจัดการขยะอาหารที่ดี

เพิ่มเพื่อลด

  • เพิ่มแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะอาหาร
  • ให้ tax credit สำหรับค่าใช้จ่ายในการวางระบบจัดการขยะอาหารให้กับภาคธุรกิจ
  • คืน VAT ให้แก่ผู้บริจาคอาหาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนส่งต่ออาหาร
  • เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะให้สะท้อนต้นทุน(Polluters pay)
  • เพิ่มกฎหมายคุ้มครองผู้บริจาค และตัวกลางในการบริจาคอาหาร โดยออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริจาคอาหารที่ทำตามมาตรฐานของการบริจาคอาหาร

งดเพื่อเปลี่ยน

  • งดทิ้งขยะรวมกัน โดยแยกการจัดเก็บขยะอินทรีย์
  • งดทิ้งขยะอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยจัดศูนย์แปรรูปขยะอาหารเป็น ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เรียนรู้กับข้อมูล

  • ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารโดยสร้าง platform ระหว่างผู้ที่ต้องการรับบริจาคอาหาร และผู้บริจาคอาหาร
  • ส่งต่อฐานข้อมูลในการบริหารจัดการขขยะอาหาร โดยจัดทำฐานข้อมูลปริมาณขยะอาหาร

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ,ทีดีอาร์ไอ,กรุงเทพธุรกิจ

related