ชุดเก่า ใส่ซ้ำ! เทรนด์การยืดอายุเสื้อผ้าให้มีอายุใช้งานนานขึ้น เพื่อตอบโต้กับปัญหา Fast Fashion ที่สร้างขยะสิ่งทอ รวมถึงก่อมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม Spring ชวนย้อนชมแนวคิดของ 2 เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษ ที่ให้ความใส่ใจกับการรีไซเคิลชุดเดิมที่เคยใส่แล้ว ติดตามได้ที่นี่
อุตสาหกรรมแฟชั่นของโลก ณ ปัจจุบันนี้ ถือเป็นแหล่งที่สร้างขยะจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นต้นตอของปัญหา “Fast Fashion” ที่กำลังพังทลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง หากสืบย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นธารการผลิต ลากไปจนถึงมือผู้สวมใส่ พบว่า ล้วนส่งผลกระทบในแง่ลบต่อโลกทั้งสิ้น
แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญ เสื้อผ้าสวย ๆ จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ อันที่จริงต้องบอกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ได้เพิ่งมานิยมในช่วงนี้ วัฒนธรรมการแต่งตัวเป็นของคู่มนุษย์เสมอมาเหมือนช้อนกับส้อม หลายท่านคงทราบดีว่า “เสื้อผ้า หน้าผม” สามารถสะท้อนวิธีคิด และวิถีชีวิตของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
ด้วยเทรนด์การจับจ่ายที่รวดเร็วอย่างที่ว่า ส่งผลให้เกิด “ขยะสิ่งทอ” จำนวนมหาศาล ที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบที่กอง ๆ กันจนเกิดเป็นภูเขาขยะ เฉกเช่นกับสถานการณ์ที่ทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศชิลี องค์กรสหประชาชาติ ระบุว่า มีสิ่งทอปริมาณกว่า 126,000 ตัน ถูกส่งเข้าไปฝังกลบแบบผิดกฎหมายที่ประเทศชิลี
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไป สะท้อนมาถึงคนดังจากราชวงศ์อังกฤษ ที่ดูเหมือนจะใส่ใจกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี 2 เจ้าหญิงจากรั้ว Buckingham Palace อย่าง “ไดอาน่า” และ “เคต มิดเดิลตัน” ผู้ที่มักหยิบชุดเก่าที่เคยใส่แล้ว มา “ปรับนิด เปลี่ยนหน่อย” บอกได้เลยว่ายังคงสวยสง่า แถมไม่สร้างภาระให้แก่โลก
ความหมายตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือการเลือกซื้อเสื้อผ้าตามเทรนด์ หรือเสื้อผ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ณ ขณะนั้น เทรนด์ที่ว่าอาจเกิดจากหลายเหตุผล การตีฟูของบรรดาแบรนด์เสื้อผ้า หรือพฤติกรรมเลียนแบบบุคคลมีชื่อเสียงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กระทั่งมีคำฮิตติดปากว่า “ของมันต้องมี”
ของบางอย่างจำเป็นต้องมีจริงหรือ? อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในชีวิตของแต่ละคน แต่โดยรวมแล้ว “Fast Fashion” หรือการเปลี่ยนเสื้อผ้าทั้ง ๆ ที่ยังใส่ไม่คุ้มค่า บางคนใส่แค่ครั้งเดียวแล้วเปลี่ยนเลยก็มี ปัญหาที่ตามมาคือ จากเสื้อผ้าก็กลายเป็นกองขยะเสื้อผ้า ที่ถูกส่งไปที่หลุมฝังกลบ และกระบวนการเผาไหม้ก็สร้างมลพิษออกสู่อากาศ
อ่านเพิ่ม Fast Fashion คืออะไร:
ไดอาน่าแห่งเวลส์ หนึ่งในผู้ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ ที่เลื่องชื่ออย่างมากเรื่องการปรุงแต่ง “เปลือกนอก” ได้สวยงาม ถูกอกถูกใจคนทั่วโลก เครื่องแต่งกายของไดอาน่าล้วนมี “ข้อความ” แอบซ่อนไว้ทั้งสิ้น
อาทิ “Revenge Dress” ชุดมินิเดรสสีดำที่ไดอาน่าใส่หลังจากที่เลิกรากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ซึ่งน่าจะเป็นชุดที่กระฉ่อนโลกมากที่สุดในโลก จากเรื่องราวเผ็ดร้อน ที่ถูกสื่อสารออกมาผ่านเครื่องแต่งกาย
เกริ่นมาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า ไดอาน่าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างดี เธอเป็นเจ้าหญิงที่มักปัดฝุ่นเสื้อผ้าเก่า ๆ แล้วนำมาปรับนิด เปลี่ยนหน่อย เพื่อยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยแคร์สายตาต่อใครก็ตามที่มองว่า “ใส่ชุดซ้ำ”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างชุดรีไซเคิลจากเจ้าหญิงไดอาน่า 1 ชุดเท่านั้น ที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายชุดด้วยกัน สามารถหาชมได้ เสิร์จคำว่า "Diana Recycled Dress"
พูดถึงไดอาน่าไปแล้ว อีกหนึ่งชื่อที่ต้องพูดถึง เมื่อวนเข้าหัวข้อเรื่องเครื่องแต่งกาย คงหนีไม่พ้นชื่อของ “เคต มิดเดิลตัน” หรือในชื่อเต็มว่า แคทเธอรีน เอลิซาเบธ มิดเดิลตัน เรียกได้ว่าเธอเป็นตัวตายตัวแทนของไดอาน่าก็ว่าได้ ในเรื่องการนิยมรีไซเคิลชุดสวย
หลายครั้งหลายคน ที่เคตหยิบชุดเก่าที่เคยใส่ไปแล้ว “มาตัดนู่น เย็บนี่” แม้จะเป็นชุดเดิม แต่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “งดงาม” ยิ่งนัก ใส่ออกมาแล้วดูมีสง่าราศี จนหลัง ๆ มีคนตั้งฉายาให้เธอว่า “เจ้าหญิงสมถะ”
แม้จะบอกว่าเธอชื่นชอบรีไซเคิลชุดเก่าเป็นชีวิตจิตใต แต่เรื่องนี้กลับตกเป็นประเด็นในสังคมอยู่พักใหญ่ ๆ เมื่อหลายคนมองว่าเธอปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ทำไมถึงไม่แต่งตัวให้สมกับเป็น (ว่าที่) ราชิณีในอนาคตเอาเสียเลย
หรือไหมเธอตอบโต้เสียงเหล่านั้นอย่างไร?
ไม่แคร์!
ในความหมายคือ เธอยึดมั่นในแนวทางที่เธอเชื่อ นั่นคือ การหยิบชุดเก่ามาใส่ซ้ำ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร แถมเป็นการยืดต่ออายุการใช้งานของเสื้อผ้าที่เธอเคยสวมใส่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วราคาแพงหูฉี่ แปลงเป็นเงินไทยก็พอจะผ่อนรถดี ๆ ได้สักคัน
ว่ากันง่าย ๆ “Slow Fashion” ก็คือด้านกลับของ “Fast Fashion” นั่นแหละ
ฟังดูเหมือนจะเป็นการหยอกล้อ แดกดัน เสียดสี แต่คำว่า “Slow Fashion” คือแนวคิดของการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้มาทำเครื่องแต่งกาย ต้องเป็นชุดที่ใส่บ่อย คงทน สามารถเก็บไว้ใส่ได้ในระยะยาว และได้คุณภาพ
โดยผู้ที่เริ่มใช้คำนี้เป็นคนแรกก็คือ เคท เฟลทเชอร์ (Kate Fletcher) ศาสตราจารย์ด้านความยั่งยืนการออกแบบและแฟชั่นจาก University of the Arts London’s Center for Sustainable Fashion
สรุปแบบเร่งรีบที่สุดคือ การรณรงค์เรียกร้องให้ผู้คนหันมาเลือกเสื้อผ้าอย่างประณีตมากยิ่งขึ้น ในความหมายคือ ตรวจสอบความต้องการให้เราให้แน่ชัด เช็กราคา ความคุ้มค่า และประเมินดูว่า หลังจากที่วิเคราะห์ปัจจัยโดยรอบแล้ว เรายังต้องการของชิ้นนั้นอยู่ไหม?
เนื้อหาที่น่าสนใจ