svasdssvasds

ญี่ปุ่น ปรับแผน รับมือแผ่นดินไหว “แอ่งนันไก” ชี้ อาจคร่า 3 แสนชีวิต

ญี่ปุ่น ปรับแผน รับมือแผ่นดินไหว “แอ่งนันไก” ชี้ อาจคร่า 3 แสนชีวิต

แอ่งนันไก (Nankai Trough) เป็นร่องน้ำลึกทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ต้นตอแผ่นดินไหว จะเกิดทุก ๆ 100-200 ปี ญี่ปุ่น ปรับแผนรับมือครั้งแรกในรอบ 10 ปี อาจมีผู้เสียชีวิต 3 แสนราย

SHORT CUT

  • แอ่งนันไกคือร่องน้ำลึกที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก ฟิลิปปินส์และยูเรเซีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ขึ้นไปและสึนามิ ทั้งยังเป็นจุดเสี่ยงแผ่นดินไหวรุนแรง
  • คาดการณ์ว่ามีโอกาส 60% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวบริเวณอ่าวนันไกในอีก 20 ปีข้างหน้า
  • หากเกิดแผ่นดินไหว อาจมีผู้เสียชีวิตกว่า 215,000 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 270 ล้านล้านเยน

แอ่งนันไก (Nankai Trough) เป็นร่องน้ำลึกทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ต้นตอแผ่นดินไหว จะเกิดทุก ๆ 100-200 ปี ญี่ปุ่น ปรับแผนรับมือครั้งแรกในรอบ 10 ปี อาจมีผู้เสียชีวิต 3 แสนราย

ล่าสุด ทางการญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ “ผลกระทบแผ่นดินไหวบริเวณแอ่งนันไก” ซึ่งเป็นการอัปเดตข้อมูลในรอบ 10 ปี แม้ยังไม่มีสัญญาณของแผ่นดินไหวในเร็ววันนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่ข่าวคราวออกมา สร้างความประหวั่นใจให้กับชาวญี่ปุ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย

SPRiNG พาไปทำความรู้จัก “แอ่งนันไก” อยู่บริเวณไหนของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างไร เกิดครั้งล่าสุดเมื่อไร และชวนหาคำตอบว่าแผ่นดินไหวบริเวณแอ่งนันไกจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้หรือไม่

ทำความรู้จัก แอ่งนันไก ร่องลึกต้นตอแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

 

ทำความรู้จัก แอ่งนันไกคืออะไร ? ทำไมอาจเป็นสาเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

แอ่งนันไก หรือ Nankai Trough คือร่องน้ำลึกรูปตัว U มีความลึกประมาณ 4,000 เมตร ตั้งอยู่ทางใต้ของนันไกโด (Nankaido region) หรือภูมิภาคทะเลใต้บนนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ทอดตัวออกไปห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 กิโลเมตร

บริเวณนี้เอง เป็นที่ตั้งของรอยเลื่อนสำคัญชื่อ นันไกเมกะทรัสต์ (Nankai megathrust) ข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่า รอยเลื่อนดังกล่าวเป็นแนวมุดตัวหลักของแผ่นเปลือกโลก ฟิลิปปินส์ ที่เคลื่อนเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ในอัตราความเร็ว 3-5 เซนติเมตร/ปี

นอกจากนี้  นันไกเมกะทรัสต์ มีลักษณะเป็นรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (Thrust Fault) กล่าวคือ ทำมุมชันน้อยกว่า 45 องศา ซึ่งจัดเป็นประเภทรอยเลื่อนอันตราย ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ที่มีขนาดใหญ่มากกว่ากว่า 8.0 ขึ้นไป และก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ขึ้นมาได้

 

แผ่นดินไหวบริเวณแอ่งนันไกเกิดมาแล้วกี่ครั้ง ?

  • แผ่นดินไหวฮาคุโฮ ขนาด 8.4 ในปี 684 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • แผ่นดินไหวนินนะ นันไค ขนาด 8.6 ในปี 887 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ขนาด 8.4 ใน ปี 1096 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  • แผ่นดินไหวโควะ นันไคโด ขนาด 8.0 ในปี 1099 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  • แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ขนาด 7.0 ในปี 1360 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  • แผ่นดินไหวโชเฮ ขนาด 8.4  ในปี 1361 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
  • แผ่นดินไหวเมโอ ขนาด 8.3 ในปี 1498 มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย เกิดแผ่นดินไหวดับเบิลช็อกในปีเดียวกันด้วย
  • แผ่นดินไหวเคอิโช ขนาด 7.9 ในปี 1605 มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย
  • แผ่นดินไหวโฮเออิ ขนาด 8.6 ในปี 1707 มีผู้เสียชีวิต 5,000 คน
  • แผ่นดินไหวดับเบิลช็อกโทไค ขนาด 8.4 และแผ่นดินไหวนันไค ขนาด 8.4 ในปี 1854 เกิดคลื่นสึนามิ สูง 22 เมตร มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
  • แผ่นดินไหวโทนันไค ขนาด 7.9 ในปี 1944 มีผู้เสียชีวิต 1,251 คน
  • แผ่นดินไหวนันไค ขนาด 8.0 ในปี 1946 เกิดคลื่นสึนามิ สูง 6.9 เมตรมีผู้เสียชีวิต 1,330 คน

แล้วแอ่งนันไกจะทำให้ญี่ปุ่นเผชิญแผ่นดินไหวในเร็ว ๆ นี้จริงหรือ ?

ข้อมูลระบุว่า แผ่นดินไหวในแอ่งนันไกเกิดขึ้นครั้งแรก (ที่มีการบันทึก) เมื่อปี 684 แต่ในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณแอ่งนันไก ขนาด 8 ในทุก ๆ 100-200 ปี

โดยทำเลที่คาดว่าจะเกิดคือ บริเวณอ่าวซูรูงะในจังหวัดชิซูโอกะ และทะเลฮีวงะในเกาะคิวชู แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เรายังไม่สามารถคาดเดาเวลาที่แน่นอนได้ โดยครั้งล่าสุดที่เกิดแผ่นดินไหวคือเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1946

ดังนั้น ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ แต่ถ้าพลิกไปดูข้อมูลจากงานวิจัย ซึ่งระบุว่า มีโอกาสมากถึง 60% ที่บริเวณแอ่งนันไกจะเกิดแผ่นดินไหวในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยทีมนักวิจัยคำนวณความน่าจะเป็นไว้ตรงกับวันที่ 1 มกราคม (ไม่ระบุปี)

 

แผ่นดินไหวบริเวณอ่าวนันไก จะสร้างความเสียหายแค่ไหน ?

ข้อมูลล่าสุดจากทางการญี่ปุ่น ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (31 มี.ค. 68) ที่ผ่านมา ระบุไว้อย่างละเอียด ดังนี้ จำนวนผู้อพยพจะเพิ่มขึ้นจากการประมาณเมื่อปี 2555 ที่ 9.5 ล้านคน เป็น 12.3 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของประชากรในญี่ปุ่น

คาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิต ถ้าเกิดแผ่นดินไหวบริเวณแอ่งนันไก

เท่านั้นยังไม่พอ เทศบาลทั้งหมด 764 แห่งใน 31 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด​ จะประสบกับแผ่นดินไหว ซึ่งมีระดับความรุนแรงอย่างน้อยระดับ 6 ชินโดะ ตามมาตราวัดของญี่ปุ่น ซึ่งระดับสูงสุดอยู่ที่ 7 หรือคลื่นสึนามิสูงอย่างน้อย 3 เมตร

สำหรับความสูญเสียทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสูงถึง 270 ล้านล้านเยน (ราว 61 ล้านล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 214 ล้านล้านเยน (ราว 48 ล้านล้านบาท) ขณะที่จำนวนอาคารสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้น

ในกรณีผู้เสียชีวิต ทางการญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 215,000 ราย จากสึนามิซึ่งเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหว โดยอ้างอิงตามสมมุติฐานว่า จะมีเพียง 20% ของประชากรที่จะอพยพทันที

ทั้งนี้ หากอัตราการอพยพเพิ่มเป็น 70% จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากสึนามิลงเหลือ 94,000 ราย ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากความก้าวหน้าในการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิประเทศ

จากสถานการณ์จำลองแผ่นดินไหวระดับ 9 แมกนิจูด ในคืนฤดูหนาว จะส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงในภูมิภาคโทไก โดยยอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดจะมาจากจังหวัดชิซูโอกะ 101,000 ราย จังหวัดมิยาซากิ 33,000 ราย และจังหวัดมิเอะ 29,000 ราย

 

ที่มา: Financial Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related