เมียนมาวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทวาย ร่วมมือกับรัสเซีย แต่พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความกังวลถึงอุบัติเหตุร้ายแรง คล้ายกรณีโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ปี 2011
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2025 “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เดินทางเข้าพบ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ที่ประเทศรัสเซีย เพื่อลงนามในข้อตกลงความร่วมมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ในพม่า
โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR มีกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ต่อเครื่องปฏิกรณ์ (บางแหล่งข้อมูลบอกว่า 110 เมกะวัตต์) ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปที่มักมีกำลังผลิต 1,000-1,600 เมกะวัตต์
กล่าวคือ ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทวาย ประเทศพม่า สร้างเสร็จ นี่จะกลายเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่น่ากังวลคือ เมียนมามีรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งก่อให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา ในอนาคต ซึ่งไม่มีใครการันตีว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือไม่ คำถามคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังจะถูกขุนให้สร้างอีกหรือไม่ เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวกับโรงไฟฟ้านั้นชวนให้นึกถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
*หมายเหตุ ภาพที่เห็นไม่ใช่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทวาย เป็นเพียงภาพประกอบข่าวเท่านั้น
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 เวลา 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวที่มีชื่อเรียกว่าแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น (Great East Japan Earthquake) หรือ แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011 (Tohoku earthquake) ทางตะวันออกของเมืองเซนได ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางเหนือ 97 กม.
ทันใดนั้นเอง ระบบควบคุมในโรงไฟฟ้าตรวจพบว่าเกิดภัยแผ่นดินไหว และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ ขณะที่เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ทำงานเพื่อสูบสารหล่อเย็นไปยังรอบ ๆ แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งยังคงร้อนระอุอย่างมาก หลังจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคลื่นยักษ์สูงกว่า 14 เมตร ซัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ กำแพงป้องกันคลื่นไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าท่วมโรงไฟฟ้าทำให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินหยุดทำงาน
เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น อุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตา เพิ่มสูงขึ้นจนร้อนจัด ส่งผลให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลาย และเกิดการระเบิดของสารเคมีหลายครั้ง สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายหลัง อีกทั้งสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศ และมหาสมุทรแปซิฟิก
แม้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีคนงานได้รับบาดเจ็บถึง 16 ราย และอีกไม่รู้เท่าไรที่ร่างกายได้รับสารกัมมันตรังสี ระหว่างควบคุมเหตุการณ์เฉพาะหน้า จนกระทั่งปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า หนึ่งในคนงานที่สัมผัสสารกัมมันตรังสีเสียชีวิตลง
ปัจจุบัน แม้ผ่านมาร่วม 10 ปี พื้นที่บริเวณดังกล่าว (ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น) ยังเป็นเขตหวงห้าม และทางการจำเป็นต้องใช้แรงงานหลายหมื่นคนเพื่อทำความสะอาด และกำจัดกากนิวเคลียร์และแท่งเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอีกกว่า 1 ล้านตัน ที่ถูกเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้า
บางคนประกาศลั่นว่าขอไม่กลับไปเหยียบที่นั่นอีกตลอดชีวิต เหตุฉะนี้แล้ว ก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่าแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทวายนั้นควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง