SHORT CUT
ชาวประมงพื้นบ้านแจ้ง พบซากพะยูนไร้หัวเกยตื้น อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เบื้องต้นพบรอยของมีคมตัดบริเวณส่วนคอ ส่วนหัวหายไป เชื่อ! อาจถูกลอบตัดไปขาย ท่ามกลางวิกฤตพะยูนไทย
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน รายงานเมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากชาวประมงพื้นบ้านบางโรง ว่าพบซากพะยูนเกยตื้นไร้หัว บริเวณในคลองทางเข้าท่าเรือบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงได้นำเจ้าหน้าที่เข้าช่วยตรวจสอบและดำเนินการเคลื่อนย้ายซาก
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นพะยูน (Dugong dugong) อยู่ในช่วงโตเต็มวัย เพศผู้ ความยาวลำตัว 223 ซม. (ไม่รวมส่วนหัวที่หายไป) น้ำหนักประมาณ 250 กก. สภาพซากเน่ามาก ความสมบูรณ์ร่างกาย ผอม (BCS 2/5)
จากการตรวจสอบสภาพร่างกาย พบรอยจากของมีคมตัดโดยรอบส่วนคอ และส่วนหัวหายไป โดยตัดขากบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก ผิวหนังภายนอกบริเวณด้านหลัง พบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะตามร่างกาย และพบแผลถลอกบริเวณโดยรอบ รวมถึงพบรอยรัดบริเวณครีบด้านขวา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะมีการผ่าซากชันสูตร หาสาเหตุการตายโดยละเอียดต่อไป
ปัจจุบัน ปัญหาของภาวะโลกร้อน เป็นหนึ่งตัวเร่งทำให้ประชากรพะยูนในไทยเริ่มล้มหายตายจาก เนื่องจาก หญ้าทะเล อันเป็นอาหารสำคัญของพะยูนได้รับความร้อนจากโลกร้อนมากเกินไป จนทำให้มีปริมาณลดลง
เมื่อหญ้าทะเลหายาก ทำให้พะยูนอดอยาก บางตัวก็ตายลง บางตัวก็ทำการอพยพไปยังที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า นอกจากนี้ การตายอื่น ๆ ก็มาจากการสัญจรทางน้ำที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยว รวมไปถึงอุปกรณ์ประมงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับพะยูนได้ง่าย
อัตราการตายของพะยูนไทย นับวันยิ่งสูงขึ้น โดยเฉลี่ยปีละ 35 ตัว ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตวแพทย์ และอีกมากมาย พยาพยามช่วยกันดูแลรักษาพะยูนไทย ให้อยู่ดีกินดี แม้ต้องเจอความยากลำบาก รวมถึงพยายามช่วยกันสื่อสารถึงความสำคัญของสัตว์เหล่านี้ที่มีต่อทะเลไทย
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการโดนตัดหัวที่เราต้องหาความจริงต่อไป เทศกาลลอยกระทงนี้ Keep The World อยากชวนพี่น้องคนไทยทุกคน ที่กำลังมีแพลนจะไปลอยกระทงในบริเวณใกล้ทะเล ให้ช่วยกันบอกต่อว่า “ขอให้ยกเลิกลอยกระทงลงทะเล”
แม้ว่างานจะจัดดีอย่างไร แต่เชื่อไหมว่า เศษวัสดุจากกระทง ไม่ว่าจะเป็นตะปู ลวด เข็มหมุด หรือแม้กระทั่งพลาสติก สิ่งเหล่านี้เมื่อลอยลงไป อาจชำรุดและตกหล่นลงก้นทะเล ทำให้สัตว์น้ำที่ไม่ใช่แค่พะยูน อาจเผลอกินเข้าไป หรือได้รับบาดเจ็บจากวัสดุเหล่านี้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตา กล้าบอกกล่าว กล้าเตือนกัน แค่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในไทย ปลอดภัยจากตัวมนุษย์เราเอง
ที่มาข้อมูล