SHORT CUT
สถานการณ์ "หญ้าทะเลไทย" โลกร้อนทำทะเลเดือด เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" ฝั่งอันดามันใต้ ตรัง-กระบี่ เกิดผลกระทบรุนแรง พะยูนกระจายกันหากิน บางส่วนเริ่มอพยพ
สถานการณ์สภาพอากาศร้อนในประเทศไทยเรียกได้ว่าอบอ้าวอยู่ไม่ได้กันเลยทีเดียว ซึ่งปัญหาก็มาจากโลกร้อนขึ้นทำทะเลเดือด ทำให้ทุกสิ่งอย่างโดนผลผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้ง คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม
ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยผลสรุปสถานการณ์ "หญ้าทะเลไทย" ในขณะนี้ โดยระบุว่า
ข้อมูลมาจากทริปที่ลงใต้ จากหน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อนของคณะประมง ของทีมสำรวจกรมทะเล และของคณะทำงานวิกฤตหญ้าทะเล พบว่า
หญ้าทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ประจวบฯ-ปัตตานี ยังอยู่ในสภาพดี อาจมีที่ลดลงบ้างแต่ยังไม่รุนแรงจนเห็นชัด อ่าวไทยฝั่งตะวันออก สภาพปรกติ ยกเว้นแหล่งหญ้าใหญ่ที่ตราด สิ้นเดือนนี้ตนจะไปดู หญ้าทะเลอันดามันเหนือ พบปัญหาบางจุดที่พังงา ต้องติดตาม แต่ที่อื่นยังอยู่ในสภาพปรกติ หญ้าทะเลอันดามันใต้ จังหวัดตรัง/กระบี่ ตอนล่าง เกิดผลกระทบรุนแรง รวมถึงสตูลบางจุด
โลกร้อนทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อเนื่องถึงกระบวนการในทะเล เช่น น้ำลงต่ำผิดปรกติ ยังทำให้น้ำร้อนจัด ดินร้อน จนเกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" อันเป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยเจอ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดไม่เท่ากัน
การสำรวจพะยูนล่าสุด พบว่ากระจายตัวออกไปในพื้นที่กว้าง ไม่รวมฝูงหากินเหมือนเคย มีรายงานการพบเพิ่มมากขึ้นในจุดที่เคยมีน้อย
หมายถึงพะยูนกระจายกันหากิน บางส่วนเริ่มอพยพขึ้นเหนือ (ตรัง -> กระบี่ -> ภูเก็ต) หลายฝ่ายช่วยกันหาทางแก้ปัญหา/ฟื้นฟู แต่มันไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือดขึ้นทุกวัน มันเป็นปัญหาถาวรและมีแต่แรงขึ้นเรื่อย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไปแก้ต้นตอได้ง่ายๆ
หน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อน คณะประมง กำลังวางแผนขยายงานฟื้นฟูหญ้าไปที่สถานีคลองวาฬ ประจวบฯ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ กำลังพยายามเต็มที่
นับจากนี้ เราต้องปกป้องแหล่งหญ้าที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด การพัฒนาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าฯ เบาได้เบา ขอบคุณทุกความสนับสนุนจากเพื่อนธรณ์ บางส่วนจะนำมาใช้ในงานที่สถานีวิจัยคลองวาฬครับ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยมีการลงพื้นที่สำรวจบริเวณทะเลอันดามันของตน ในพื้นที่ จ.ตรัง พังงา กระบี่ เพื่อไปดูว่าความจริงฝีมือมนุษย์ในการสร้างเขื่อน หรือภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทะเลเดือด ทะเลรวน หรือเกิดจากโรคระบาดที่ทำให้หญ้าทะเลหมดไปไม่มีอาหารให้พะยูน และจากการสำรวจก่อนหน้านี้อ่าวไทยมีพะยูน 200 กว่าตัว มีจริงหรือไม่ ปรากฏว่าในการลงพื้นที่ครั้งล่าสุดไม่เจอพะยูนเลยแม้แต่ตัวเดียว
“จากการสังเกตการณ์ว่าทำไมหญ้าทะเลที่เคยมีในบริเวณนั้น ขณะนี้กลายเป็นหาดทรายไปหมด พอลงไปดูปรากฏว่าไม่มีที่ให้หญ้าทะเลขึ้นเลย เมื่อถามนักวิชาการ ปรากฏว่าปัญหามันเกิดจากการที่เริ่มทำเขื่อนและตะกอนพัดอยู่ในทะเล โดยไม่ได้หายไปไหน และพัดมาทับหญ้าไปทั้งหมด หญ้าจึงขึ้นไม่ได้ และในฝั่งอ่าวไทยหญ้าทะเลก็ตายไปถึง จ.ตราด ตายข้ามฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จึงวิเคราะห์ว่าไม่น่าจะเป็นเพราะเขื่อนเพียงอย่างเดียว หากสร้างเขื่อนกั้นก็ต้องเกิดเฉพาะฝั่งอันดามัน แต่เกิดขึ้นทั้งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย” ร.อ.รชฏ กล่าว
ทั้งนี้ล่าสุดจากการประเมินก่อนหน้านี้ว่ามีพะยูน 200 กว่าตัว แต่…ล่าสุดจากการใช้โดรนบินลาดตระเวนทุกจังหวัดผลออกมาเราเจอพะยูนประมาณ 70-80 ตัวเท่านั้น ดังนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่คิด และเชื่อมั่นว่าเมื่อ 2-3 ปียังเห็นอยู่เลย จ.ตรัง ที่มีสัญลักษณ์เป็นพะยูน ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว อาจจะไม่เหลืออีกต่อไป ถ้าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาทำการสำรวจใหม่ทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิบากกรรม! ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทะเลเดือด “พะยูน” ลดฮวบ ไฟป่า ฝุ่นควัน น่าห่วง
อุณหภูมิน้ำทะเลเดือดกว่า 31.5°C ส่งผลสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเล
ฮีโร่กู้ทะเลเดือด! นักวิทย์ฯ ไทย เพาะปะการังในแล็บจนโต คืนชีวิตให้ท้องทะเล